มะเร็งต่อมน้ำเหลือง คือโรคที่เกิดจากการที่มีเนื้อร้ายเกิดขึ้นที่ต่อมน้ำเหลืองหรือโครงสร้างของต่อมน้ำเหลือง โดยระบบน้ำเหลืองเองก็เป็นระบบหนึ่งของภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ประกอบไปด้วย อวัยวะที่มีต่อมน้ำเหลือง ได้แก่ ม้าม และไขกระดูก ซึ่งภายในอวัยวะเหล่านี้จะเต็มไปด้วยน้ำเหลืองมีหน้าที่ลำเลียงสารอาหารและเซลล์เม็ดเลือดขาวไปทั่วร่างกาย และเมื่อเซลล์เม็ดเลือดขาวเหล่านี้เกิดความผิดปกติจึงทำให้เกิดเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เพราะต่อมน้ำเหลืองนั้นมีอยู่ทั่วร่างกายไม่ว่าจะเป็น คอ รักแร้ ข้อพับแขน ข้อพับขา ช่องอกหรือช่องท้อง และนอกจากนี้เซลล์น้ำเหลืองเองก็ยังมีอยู่ตามอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายด้วย ไม่ว่าจะเป็นลำไส้ หรือกระเพาะจึงทำให้มะเร็งต่อมน้ำเหลืองสามารถเกิดขึ้นได้หมดทุกที่
ประเภทของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองสามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 ชนิด
- มะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน(Hodgkin’s disease – HD หรือมีอีกชื่อว่า Hodgkin’s lymphoma – HL) พบได้บ่อยในช่วงอายุ 15-34 ปี และมากกว่า 60 ปี พบได้น้อยในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี มีลักษณะเฉพาะ คือ จะพบเซลล์มะเร็งที่เรียกว่า “Reed-Sternberg cell” ซึ่งไม่มีในมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดอื่น ๆ
- มะเร็งต่อมน้ำเหลืองนอนฮอดจ์กิน(non-Hodgkin’s lymphoma – HHL) พบได้มากกว่ากลุ่มแรกประมาณ 8 เท่า และมีความรุนแรงของโรคสูงกว่ากลุ่มแรก มักพบในวัยกลางคนขึ้นไป และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ รวมทั้งผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) และผู้ป่วยที่ผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในกลุ่มนี้มีอยู่ประมาณ 30 ชนิดย่อย ถ้าอาศัยอัตราการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งจะสามารถแบ่งได้ 2 ชนิด คือ
- ชนิดลุกลามช้า(Indolent) จะมีการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งค่อนข้างช้า ผู้ป่วยจะมีอาการแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่มักจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยวิธีการในปัจจุบัน
- ชนิดรุนแรง(Aggressive) มีอัตราการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งเร็ว ถ้าไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ภายใน 6 เดือน – 12 ปี แต่มีข้อดี คือ ถ้าหากรักษาได้อย่างทันท่วงทีโอกาสที่จะหายขาดก็มีมาก
มะเร็งต่อมน้ำเหลืองสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ
- ระยะที่ 1 พบมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเพียงตำแหน่งเดียว เช่น บริเวณลำคอด้านซ้าย หรือบริเวณรักแร้ด้านขวา บริเวณใดบริเวณหนึ่ง
- ระยะที่ 2 พบมะเร็งต่อมน้ำเหลืองตั้งแต่สองตำแหน่งขึ้นไป แต่จะต้องอยู่ด้านเดียวกันของกระบังลม เช่น บริเวณคอด้านซ้าย และคอด้านขวา หรือคอซ้ายกับรักแร้ซ้าย
- ระยะที่ 3 พบมะเร็งต่อมน้ำเหลืองทั้งส่วนบนและส่วนล่างของกระบังลม เช่น มีต่อมน้ำเหลืองโตที่รักแร้ร่วมกับที่ขาหนีบ
- ระยะที่ 4 โรคจะกระจายออกนอกระบบน้ำเหลือง เช่น เกิดที่ไขกระดูก หรือเนื้อเยื่ออวัยวะอื่น เช่น ตับ ปอด สมอง กระดูก
ความเสี่ยงของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
- การติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น HIV
- การติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด เช่น Helicobacter pylori
- การมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ
- เป็นโรคภูมิแพ้ตนเองบางชนิด
- พันธุกรรม
- การสัมผัสวัตถุทางเคมีที่เป็นสารก่อมะเร็ง
- อาจเกิดจากสิ่งแวดล้อม เพราะพบโรคนี้ได้สูงกว่าในคนที่มีอาชีพเกษตรกรรม
- การกินอาหารพวกโปรตีนและไขมันสูง
- เคยรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน
- การที่ร่างกายมีความเป็นกรดในระยะเวลานาน
อาการของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
- มีอาการเจ็บ – ปวด – บวม ในตำแหน่งที่มีต่อมน้ำเหลือง
- เหงื่อออกมากตอนกลางคืน
- น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
- ความอยากอาหารลดลง
- เมื่อยล้าหรือไม่มีแรง
- ผิวหนังมีผื่นขึ้นหรือมีอาการคัน
- เจ็บที่หน้าอก หน้าท้อง หรือกระดูกโดยไม่ทราบสาเหตุ
- มีก้อนใต้ผิวหนัง
- ไอและหายใจถี่
ผู้ป่วยที่ต้องสงสัยว่าป่วยเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองหรือต้องการติดตามผลการรักษา การตรวจด้วย MRI เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะสามารถให้รายละเอียดของต่อมน้ำเหลืองและเนื้อเยื่อรอบ ๆ ได้ดี ทำให้เป็นประโยชน์ต่อการวางแผนการรักษา นอกจากนี้โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเป็นหนึ่งในมะเร็งไม่กี่ชนิดที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากได้รับการรักษาที่ถูกต้องตั้งแต่ระยะแรกของโรค