มะเร็งรังไข่ (Ovarian Cancer) จัดเป็นภัยเงียบตัวอันตรายในระบบอวัยวะสืบพันธุ์สตรี เนื่องจากเป็นโรคที่มีอัตราเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากเป็นอันดับต้น ๆ ในบรรดาโรคมะเร็งในระบบอวัยวะสืบพันธุ์ของสตรี และโดยส่วนมากมักจะไม่แสดงอาการอย่างชัดเจน จึงทำให้มะเร็งรังไข่กลายเป็นโรคที่ไม่ค่อยตรวจเจอในระยะแรก ๆ กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็พบว่าเป็นมะเร็งรังไข่ในระยะสุดท้ายแล้ว
มะเร็งรังไข่เกิดจากการที่มีเซลล์มะเร็งเจริญเติบโตในรังไข่ ซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญที่มีหน้าที่ในการผลิตไข่และฮอร์โมนเพศหญิงสามารถพบได้ทั้งในเด็กโตและผู้ใหญ่ แต่มักพบมากในผู้หญิงช่วงอายุ 40-60 ปี
มะเร็งรังไข่สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ตัวมะเร็งอยู่เฉพาะในรังไข่ ซึ่งเป็นระยะที่สามารถรักษาได้ แต่ส่วนใหญ่มักตรวจไม่พบในระยะแรก โดยส่วนมากของโรคมะเร็งรังไข่ที่ตรวจพบมักจะพบหลังจากเข้าสู่ระยะที่ 3 หรือ 4 ไปแล้ว เนื่องจากระยะแรก ๆ มักไม่มีอาการปรากฏให้เห็น จนระยะที่ 3 เซลล์มะเร็งกระจายเข้าไปในเยื่อบุช่องท้องและเข้าไปสร้างสารน้ำต่าง ๆ จึงทำให้ท้องของคนไข้ขยายใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็วเนื่องจากมีน้ำในท้องและมีอาการตึง แข็ง สำหรับระยะที่ 4 เป็นระยะที่เซลล์มะเร็งจะกระจายไปที่ปอดแล้ว
อาการของโรคมะเร็งรังไข่
- มีเลือดออกเป็นจำนวนมากที่ช่องคลอดโดยไม่ได้เป็นประจำเดือน
- มีเลือดออกเป็นจำนวนมากระหว่างมีเพศสัมพันธ์
- ท้องอืด ท้องเฟ้อ หรือแน่นท้องบ่อย ๆ
- มีอาการปวดท้องหรือปวดกระดูกเชิงกราน
- ปัสสาวะบ่อยจากการที่ก้อนมะเร็งไปกดเบียดกระเพาะปัสสาวะ
- ท้องผูกจากการที่ก้อนมะเร็งไปเบียดลำไส้เล็ก หรือลำไส้ใหญ่
- คลำเจอก้อนเนื้อที่บริเวณท้องน้อย
- เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
- มีภาวะประจำเดือนผิดปกติ
- มีน้ำในช่องท้อง หรือมีภาวะท้องโตกว่าปกติ
ความเสี่ยงของโรคมะเร็งรังไข่
- เพศหญิงที่มีอายุมากกว่า 50 ปี
- มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม, มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งลำไส้ใหญ่
- ไม่เคยตั้งครรภ์มาก่อน
- มีประจำเดือนก่อนอายุ 12 ปี หรือหมดประจำเดือนหลังอายุ 55 ปี
ในกลุ่มของผู้ที่มีความเสี่ยงขอแนะนำให้ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีและสำหรับผู้ที่พบว่าป่วยเป็นมะเร็งรังไข่แล้ว ขอแนะนำตรวจ MRI Lower Abdomen (ตรวจช่องท้องส่วนล่าง) เพื่อตรวจวินิจฉัยความรุนแรงของโรค เพราะสามารถตรวจดูก้อนชนิดต่าง ๆ รวมไปถึงการแพร่กระจายของมะเร็งได้เป็นอย่างดีทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้องแม่นยำ