มะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colon Cancer) เป็นเซลล์มะเร็งของเนื้อเยื่อลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง โดยชนิดที่พบบ่อยมักเกิดจากการที่เซลล์เยื่อบุผนังลำไส้มีการเปลี่ยนแปลงและเจริญเติบโตผิดปกติกลายเป็นติ่งเนื้อเล็ก ๆ เรียกว่า โพลิพ (Polyp) จากนั้นติ่งเนื้อจะใช้เวลาสักระยะหนึ่งในการพัฒนาจนกลายเป็นมะเร็ง การตัดติ่งเนื้องอก (Polyp) ออกสามารถป้องกันไม่ให้ติ่งเนื้อพัฒนากลายเป็นมะเร็งได้ มะเร็งลำไส้ใหญ่หากไม่ได้รับการรักษาเซลล์มะเร็งนั้นอาจลุกลามทะลุผนังลำไส้ หรือแพร่กระจายต่อไปยังตับ ปอด สมอง หรือกระดูกได้
โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ
- ระยะที่1 โรคมะเร็งในระยะเริ่มต้น มะเร็งจะอยู่เฉพาะผิวของลำไส้
- ระยะที่ 2 มะเร็งอยู่เฉพาะผนังลำไส้ แต่ยังไม่แพร่ไปถึงต่อมน้ำเหลือง
- ระยะที่ 3 มะเร็งแพร่ไปต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง แต่ยังไม่แพร่ไปยังอวัยวะอื่นๆ
- ระยะที่ 4 มะเร็งแพร่ไปอวัยวะอื่น
อาการของมะเร็งลำไส้ใหญ่
- มีพฤติกรรมการขับถ่ายเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และมักเกิดขึ้นนานหลายสัปดาห์ เช่น ท้องเสีย ท้องผูก หรือลักษณะของอุจจาระที่มีการเปลี่ยนแปลงไป
- ขับถ่ายอุจจาระเป็นเลือด
- รู้สึกขับถ่ายไม่สุด
- ปวดท้อง หรือรู้สึกแน่นอึดอัดบริเวณช่วงท้องเหมือนมีแก๊สในท้อง เช่น ท้องอืด
- อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
- น้ำหนักลงโดยไม่มีสาเหตุ
หากเริ่มมีอาการหลายอย่างของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยเฉพาะการถ่ายเป็นเลือดหรือนิสัยการขับถ่ายเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก ควรทำการตรวจ Check Up เบื้องต้นเพราะโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นโรคที่ไม่มีอาการเฉพาะเจาะจง
ความเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ใหญ่
- อายุมากกว่า 50 ปี
- ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
- ลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง
- วิถีชีวิตที่ไม่ค่อยขยับร่างกาย
- การสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์
- การเข้ารับการฉายแสงในการรักษามะเร็งบริเวณช่วงท้อง
หากท่านมีอาการเหล่านี้ ขอแนะนำตรวจ CT – Colonoscopy (ตรวจส่วนลำไส้) เพื่อตรวจและคัดกรองโรคเพราะสามารถแสดงให้เห็นรายละเอียดภายในลำไส้ใหญ่ได้อย่างชัดเจนทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้องแม่นยำ