อุบัติเหตุการหกล้มหรือการตกจากที่สูงแล้วศีรษะกระทบพื้น จัดเป็นภยันตรายเกิดขึ้นได้หลังจากเกิดอุบัติเหตุ กรณีศีรษะได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง ต้องสังเกตดูว่ามีการหมดสติหรือไม่ มีสติสัมปชัญญะเหมือนปกติหรือไม่ สามารถตอบโต้พูดคุยได้เป็นปกติหรือไม่ โดยปกติอาการบาดเจ็บที่มีต่อสมองอาจเกิดขึ้นได้ทันทีทันใด หรือส่วนใหญ่มักจะเกิดปัญหาขึ้นภายใน 48-72 ชั่วโมง หลังจาก 72 ชั่วโมงไปแล้ว
เลือดคั่งในสมอง (Intracerebral Hemorrhage) เป็นภาวะอาการที่เกิดจากเส้นเลือดในสมองแตกหรือฉีกขาด จนทำให้มีเลือดไหลออกมายังเนื้อเยื่อส่วนที่ใกล้เคียงทำให้เซลล์สมองในบริเวณนั้นได้รับความความเสียหายจนนำไปสู่ภาวะสมองบวม (Cerebral Edema) หรือเกิดเป็นก้อนเลือด (Hematoma) กดทับในเยื่อหุ้มสมอง โดยภาวะอาการเหล่านี้จะสร้างแรงกดทับแก่เนื้อเยื่อสมอง รบกวนการขนส่งออกซิเจนไปเลี้ยงสมองและเบียดทำลายเนื้อเยื่อสมอง โดยภาวะเลือดคั่งในสมองสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งภายในเนื้อสมอง ระหว่างเนื้อสมองและเยื่อหุ้มสมอง ระหว่างสมองแต่ละชั้น หรือระหว่างสมองกับกะโหลกศีรษะ เป็นผลให้เกิดอาการป่วยที่รุนแรง อาจถึงขั้นเป็นอัมพาตหรือถึงแก่ชีวิตได้
อาการของเลือดคั่งในสมอง
อาการของเลือดคั่งในสมองขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่มีเลือดออก ซึ่งทำให้เกิดภาวะความดันภายในสมองสูงขึ้นและทำให้สูญเสียการทำงานของเนื้อสมองบริเวณที่มีเลือดออก
- ปวดหัวรุนแรงอย่างต่อเนื่อง
- สับสน มึนงง กระวนกระวาย
- ง่วงซึมมากกว่าปกติ นอนนาน ปลุกไม่ตื่น ไม่รู้ตัว หรือ หมดสติ
- ลำบากในการพูดคุยสื่อสาร หรือการทำความเข้าใจสิ่งที่ผู้อื่นพูด
- มีไข้สูง ปวดตุบๆ ในลูกตา
- เวียนหัวคลื่นไส้ อาเจียน
- ตาข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้างอาจมีปัญหาในการมองเห็น
- แขนขาอ่อนแรง ร่างกายสูญเสียความสามารถในการเคลื่อนไหว
- เสียการทรงตัว
- ชาครึ่งซีก
- มีอาการชัก ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยประสบภาวะชักมาก่อนหน้านี้
- ปวดต้นคอ ขยับคอลำบาก
หมายเหตุ : อาการผิดปกติเหล่านี้เป็นอาการที่พบได้บ่อย และบ่งชี้ว่าผู้ป่วยควรกลับไปพบแพทย์
ความเสี่ยงของเลือดคั่งในสมอง
- ได้รับอุบัติเหตุ สมองถูกกระทบกระเทือนศีรษะได้รับบาดเจ็บ
- ภาวะความดันโลหิตสูงอย่างต่อเนื่องทำให้ผนังหลอดเลือดอ่อนแอเปราะบางและแตกง่าย
- โรคหลอดเลือดสมอง ที่มีภาวะสมองตีบตันจนเป็นเหตุให้เส้นเลือดสมองแตกเมื่อเส้นเลือดหรือหลอดเลือดในสมองตีบตัน
- ภาวะหลอดเลือดสมองโป่งพอง (Cerebral aneurysm) หรือหลอดเลือดสมองเกิดกระเปาะเลือดทำให้เกิดลิ่มเลือดไหลวนในกระเปาะไปอุดตันเส้นเลือดสมอง
- ภาวะผิดปกติในสมอง เช่น ก้อนเนื้องอกเบียดกดเนื้อสมอง หลอดเลือดสมองผิดปกติ
- โรคตับผู้ป่วยโรคตับมีความเสี่ยงต่อภาวะมีเลือดไหลเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับภาวะเลือดคั่งในสมอง
- การใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดอาจส่งผลต่อภาวะเลือดไหล จนทำให้เกิดเลือดคั่งในสมอง
- การใช้ยาเสพติดเช่น ยาบ้า หรือโคเคน อาจทำให้มีภาวะความดันโลหิตสูงอย่างรุนแรงจนเสี่ยงต่อการเกิดเส้นเลือดแตกและมีเลือดคั่งในสมอง
- ความผิดปกติของเส้นเลือดแดงและดำแต่กำเนิด (AVM)
หากท่านมีอาการหรือความเสี่ยงเหล่านี้ ขอแนะนำตรวจ CT Brain (ตรวจส่วนสมอง) หรือ MRI Brain (ตรวจส่วนสมอง) เพราะสามารถตรวจดูรอยโรคได้เป็นอย่างดีทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้องแม่นยำ