มะเร็งหลังโพรงจมูก (Nasopharyngeal Carcinoma) เป็นเนื้อร้ายที่เกิดขึ้นที่หลังโพรงจมูกอยู่บริเวณหลังจมูกเหนือเพดานอ่อน ในระยะแรกของโรคมักจะไม่แสดงอาการ หรือหากมีอาการก็อาจคล้ายกับโรคอื่นจนทำให้สังเกตได้ยาก มะเร็งหลังโพรงจมูกเป็นโรคที่พบได้มากในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงประเทศไทย จากสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติของประเทศไทยพบผู้ป่วยเป็นมะเร็งหลังโพรงจมูกสูงถึง 4.2 คนต่อประชากรแสนคน (ที่มาสถิติ:วารสารโรคมะเร็งจากมูลนิธิวิจัยโรคมะเร็งเพื่อสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ฉบับที่35 ปีพ.ศ.2558)
มะเร็งหลังโพรงจมูกสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ คือ
- ระยะที่ 1 (T1) ก้อนมะเร็งยังอยู่ภายในโพรงจมูกข้างเดียวหรือยังไม่เห็นก้อนเนื้องอกแต่หากมีการตรวจชิ้นเนื้อก็จะได้เป็นผลบวก
- ระยะที่ 2 (T2) ก้อนมะเร็งอยู่เต็มภายในหลังโพรงจมูกทั้งด้านข้างและด้านหลัง
- ระยะที่ 3 (T3) ก้อนมะเร็งลุกลามไปถึงช่องจมูกและช่องคอรวมถึงได้เข้าไปอยู่ภายในโพรงหลังจมูก แต่ต่อมน้ำเหลืองข้างคอด้านที่เป็นมะเร็งยังโตไม่เกิน 3 เซนติเมตร
- ระยะที่ 4 (T4) ก้อนมะเร็งลุกลามไปยังกะโหลกศีรษะและเส้นประสาทสมอง ผู้ป่วยอาจมีภาวะต่อมน้ำเหลืองโตเนื่องจากเชื้อมะเร็งได้กระจายไปสู่อวัยวะอื่นที่อยู่ไกลกว่านั้น และกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองข้างคอด้วย
อาการของมะเร็งหลังโพรงจมูก
อาการแสดงของโรคมะเร็งหลังโพรงจมูก สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 กลุ่ม คือ
- อาการทางจมูก มีอาการระคายเคืองหลังโพรงจมูก มีน้ำมูกปนเลือด มีเลือดออกทางจมูกบ่อย ๆ แน่นจมูก หายใจไม่ค่อยสะดวก หรือคัดจมูก มีน้ำมูกไหลลงคอเรื้อรัง หรือเสียงที่เปลี่ยนไป
- อาการทางหู การได้ยินบกพร่องมีเสียงดังในหู รู้สึกปวดหู หรือมีของเหลวไหลออกจากหู เนื่องจากการทำงานผิดปกติของท่อเชื่อมหูชั้นกลาง เพราะการลุกลามของมะเร็งเป็นผลให้ความกดอากาศในหูชั้นกลางลดลง จึงก่อให้เกิดอาการหูอื้อและอาการนี้จะมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ
- ก้อนที่คอ เป็นอาการที่สังเกตได้ค่อนข้างชัดของโรคนี้โดยเฉพาะอาการของโรคมะเร็งหลังโพรงจมูกระยะที่ลุกลามไปถึงต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ ซึ่งจะตรวจพบก้อนที่คอเพียงก้อนเดียวหรือหลายก้อนแบบติดกัน-ห่างกันก็ได้ ทว่ากรณีที่พบบ่อยมักจะเจอก้อนที่คอเพียงก้อนเดียวมีลักษณะแข็ง ไม่เจ็บ และเคลื่อนไหวไปมาได้
- อาการทางระบบประสาท ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดศีรษะ มองเห็นภาพซ้อน ชาที่ใบหน้า เจ็บเสียวที่แก้มข้างเดียวกับตำแหน่งที่เป็นมะเร็ง และในรายที่อาการลุกลามมากผู้ป่วยอาจเป็นอัมพาตที่กล้ามเนื้อใบหน้า เวียนศีรษะ เสียงแหบ กลืนลำบาก หรือสำลักอาหาร รวมทั้งมีการรับกลิ่นและรสที่เปลี่ยนไป
- อาการอื่น ๆ เช่น น้ำหนักลด เบื่ออาหาร มีไข้ต่ำ ๆ และอาจมีอาการอ้าปากไม่ขึ้น สำลักน้ำขึ้นจมูก เป็นต้น ซึ่งเป็นอาการที่เกิดจากการลุกลามของเซลล์มะเร็งไปยังอวัยวะอื่น หรือตำแหน่งอื่น
ความเสี่ยงของมะเร็งหลังโพรงจมูก
- เพศชาย อายุ 30-50 ปี
- ผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเวียดนาม ลาว กัมพูชา หรือประเทศไทย รวมทั้งฮ่องกงและทางตอนใต้ของประเทศจีน
- ผู้ที่ชอบรับประทานเนื้อสัตว์หรือเนื้อปลาที่หมักด้วยเกลือ
- การติดเชื้อไวรัสเอ็บสไตบาร์เป็นไวรัสที่มักทำให้เกิดโรคหวัดหรือโรคโมโนนิวคลิโอสิส ซึ่งเป็นโรคที่สามารถติดต่อกันได้ผ่านทางสารคัดหลั่งภายในร่างกายอย่างน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะ และเชื้อไวรัสชนิดนี้อาจเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคมะเร็งหลาย ๆ ชนิด
- คนในครอบครัวมีประวัติเคยป่วยเป็นโรคมะเร็งหลังโพรงจมูกมาก่อน
- ทำงานอยู่ในสถานที่ที่ต้องคลุกคลีกับขี้เลื่อยหรือฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde) รวมถึงการสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์
แนะนำตรวจ MRI Nasopharynx (โพรงจมูกและลำคอ) เพื่อหาตำแหน่งของการเกิดมะเร็งและตรวจดูการแพร่กระจายของมะเร็ง เพราะสามารถกำหนดระยะของโรคตรวจดูความผิดปกติของเนื้อเยื้อและการแพร่กระจายของมะเร็งได้เป็นอย่างดี ทำให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาและใช้ในการติดตามผลการรักษาเป็นระยะ