อาการชักจากไข้ (Febrile Convulsion หรือ Febrile Seizures) คืออาการชักที่เกิดจากการมีไข้สูงในเด็กมักมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ โดยส่วนมากจะเกิดขึ้นกับทารกอายุประมาณ 6 เดือนไปจนถึงเด็กอายุ 5-6 ปี อาการชักจากไข้นี้เกิดจากการที่สมองของเด็กเล็กยังเจริญไม่เต็มที่ทำให้มีโอกาสชักได้เมื่อถูกกระตุ้นจากสิ่งต่าง ๆ
แต่สาเหตุที่แท้จริงของการชักในเด็กที่มีไข้สูงนั้นยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดมีความเป็นไปได้ที่จะเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมเพราะผู้ที่มีอาการชักจากไข้มักจะมีคนในครอบครัวที่มีประวัติเป็นภาวะไข้ชักในตอนที่ยังเป็นเด็ก สาเหตุของไข้มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัสของทางเดินหายใจ คือโพรงจมูกและลำคอ เช่น ไข้หวัดใหญ่เป็นส่วนมาก นอกจากนี้อาจเกิดจากโรคหัดกุหลาบ (Roseola) และจากหูชั้นกลางอักเสบติดเชื้อ
อาการของภาวะชักจากไข้จะแตกต่างกันไปตามประเภทของการชัก โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
1. ภาวะชักจากไข้แบบธรรมดา
- เกร็งกระตุกทั่วทั้งตัวประมาณ 1-2 นาที และอาจเกิดอย่างต่อเนื่องนานถึง 15 นาที แต่จะไม่มีอาการชักเกิดขึ้นซ้ำอีกครั้งภายใน 24 ชั่วโมง
- ตาเหลือก
- ไม่ตอบสนองต่อสิ่งเร้า
- อุจจาระหรือปัสสาวะราดขณะที่กำลังชัก
- เลือดไหลออกจากปาก เนื่องจากกัดปากหรือลิ้นในขณะที่กำลังชัก
- มีอาการง่วงนอน หงุดหงิด ฉุนเฉียว หรือโมโหง่ายเป็นเวลา 2-3 ชั่วโมงหลังอาการชัก
2. ภาวะชักจากไข้แบบซับซ้อน
- ชักต่อเนื่องนานมากกว่า 15 นาทีและอาจมีอาการชักซ้ำภายใน 24 ชั่วโมงหลังการชักครั้งแรก
- ขณะที่เกิดอาการชักก็อาจมีอวัยวะเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งเท่านั้นที่กระตุก
- มีอาการแขนหรือขาอ่อนแรงหลังการชัก
ข้อควรปฏิบัติเมื่อเกิดการชัก
- ตั้งสติ อย่าตกใจ
- จับผู้ป่วยนอนตะแคง (เพื่อป้องกันการสำลัก)
- ห้ามใช้นิ้วหรือวัสดุใด ๆ ล้วง งัดปากผู้ป่วย
- จับเวลาที่เกิดอาการชัก
- สังเกตอาการหากชักนานมากกว่าเวลา 3-5 นาที หรือมีรอบปากเขียวช้ำควรรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที
ความเสี่ยงของภาวะชักจากไข้
- เด็กอายุ 6 เดือนถึง 5-6 ปี
- การติดเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่และโรคไข้ผื่นกุหลาบ
- การฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ โรคบาดทะยัก โรคไอกรน และวัคซีนป้องกันโรคหัด คางทูมหัดเยอรมัน
- ครอบครัวที่มีประวัติเป็นภาวะไข้ชักตอนในตอนที่ยังเป็นเด็ก
หากเด็กมีอาการชักเป็นระยะเวลานานมากกว่าปกติมีศีรษะที่ใหญ่ผิดปกติ มีความผิดปกติทางระบบประสาท หรือมีความดันในกะโหลกศีรษะสูง ขอแนะนำตรวจ MRI Brain (ตรวจสมอง) เพื่อตรวจหาสาเหตุของความผิดปกติทางสมอง