อาการปวดหัวแบบคลัสเตอร์ เป็นภาวะปวดหัวอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน โดยผู้ป่วยจะรู้สึกปวดหัวข้างเดียวหรืออาจปวดบริเวณรอบดวงตา เบ้าตา ซึ่งอาจเกิดการปวดต่อเนื่องยาวนานหลายชั่วโมงและอาจเกิดขึ้นหลายครั้งภายในวันเดียว ในขณะที่ปวดหัวอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ตาแดง น้ำมูกไหล เวียนหัว บางครั้งอาการปวดอาจรุนแรงถึงขั้นทำให้ตื่นหลังจากที่นอนหลับไปแล้วประมาณ 1-2 ชั่วโมง หรืออาจทำให้ผู้ป่วยต้องทำร้ายตัวเองเพื่อบรรเทาอาการปวดหัว อย่างเช่น การทุบหัวตัวเอง กดตรงบริเวณที่ปวดแรง ๆ เป็นต้น ซึ่งการกระทำเหล่านี้ไม่ควรทำอย่างยิ่ง
ลักษณะอาการของการปวดหัวแบบคลัสเตอร์
- ปวดหัวอย่างรุนแรงฉับพลัน
- ตาแดง
- น้ำตาไหลออกมามาก
- รูม่านตาหดเล็กลง
- ตาไวต่อแสง
- เปลือกตาหย่อนหรือบวม
- คัดจมูกหรือมีน้ำมูก
- เกิดรอยแดงหรือมีเหงื่อออกบนใบหน้า
- กระสับกระส่าย
- เวียนหัว
ความเสี่ยงของการปวดหัวแบบคลัสเตอร์
ในปัจจุบันแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการปวดหัวแบบคลัสเตอร์แต่สันนิษฐานว่ามีสาเหตุมาจากการทำงานผิดปกติของสมองส่วนไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมระดับฮอร์โมน อุณหภูมิ การนอนหลับ และความดันภายในร่างกายซึ่งอาจทำให้เส้นเลือดบริเวณใบหน้าขยายใหญ่ขึ้นจนไปกดทับเส้นประสาทบนใบหน้า และกระตุ้นความรู้สึกปวดหัวไปยังสมองมากผิดปกติจึงทำให้เกิดอาการปวดหัวลักษณะนี้ขึ้น นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดอาการขึ้นได้คือ
- การสูบบุหรี่
- การดื่มแอลกอฮอล์
- กลิ่นฉุน เช่น น้ำหอม สี น้ำมันเบนซิน เป็นต้น
- ความร้อน เช่น การอาบน้ำอุ่น ออกกำลังกายในห้องที่มีอากาศร้อน เป็นต้น
- มีประวัติคนในครอบครัวว่าเคยปวดหัวแบบคลัสเตอร์มาก่อน
- เกิดเนื้องอกในสมองหรือต่อมใต้สมอง
แนะนำตรวจ MRI Pituitary (ตรวจต่อมใต้สมอง) หากท่านมีอาการเห็นภาพซ้อน มุมมองของสายตาแคบลง ร่วมกับการปวดหัวแบบคลัสเตอร์ หรือ MRI Brain (ตรวจสมอง) หากท่านมีอาการ พูดจาติดขัด มีความยากลำบากในการพูดสื่อสาร มีปัญหาการได้ยิน มีปัญหาด้านความจำ มีปัญหาการทรงตัว ทรงตัวลำบาก สูญเสียการรับรู้ของประสาทสัมผัส และการเคลื่อนไหวแขนขา มีอาการชักทั้งที่ไม่เคยมีประวัติชักมาก่อน แขนขาอ่อนแรง เป็นอัมพาตครึ่งซีกร่วมกับการปวดหัวแบบคลัสเตอร์เพื่อหาสาเหตุของอาการเนื่องจากท่านมีความเสี่ยงที่จะมีเนื้องอกในสมองหรือต่อมใต้สมอง