ข้อเข่าเสื่อมยังไม่แก่ก็เป็นได้

ในอดีตเคยมีความเชื่อว่าโรคเข่าเสื่อมเป็นโรคที่เกิดขึ้นตามวัยของผู้คนแต่ในความเป็นจริงแล้วโรคเข่าเสื่อมสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัยทำให้ “โรคเข่าเสื่อม” กลายเป็นภัยเงียบที่แอบแฝงอยู่ในการใช้ชีวิตประจำวันของทุกคนหากมีการใช้ข้อเข่าอย่างไม่ระมัดระวัง และไม่ดูแลคุณก็อาจจะเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน

 

ข้อเข่าเสื่อมเป็นโรคที่เกิดจากการเสื่อมสภาพของผิวข้อตามกาลเวลา หรือเกิดจากผิวกระดูกอ่อนที่ถูกทำลายจากการเปลี่ยนแปลงภายในข้อและร่างกายที่ไม่สามารถซ่อมแซมกระดูกอ่อนได้ทันกับการที่ถูกทำลายไป  เมื่อกระดูกอ่อนผิวข้อมีเลือดมาเลี้ยงน้อยจะส่งผลให้เซลล์กระดูกอ่อนได้รับสารอาหารและออกซิเจนไม่เพียงพอ จึงทำให้ไม่สามารถซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอได้ส่งผลให้ข้อที่เสื่อมไม่สามารถรับน้ำหนักได้และทำให้มีอาการเจ็บปวดในการใช้ชีวิตประจำวัน

 

ความเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคเข่าเสื่อม

  1. อายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้น และกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไปมีโอกาสเป็นโรคนี้ถึง 40%
  2. เพศหญิงมีความเสี่ยงเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ชาย 2-3 เท่า
  3. น้ำหนักตัวที่มากเกินไปจะทำให้เกิดแรงกดทับกับข้อเข่ามากขึ้นด้วย รวมทั้งเซลล์ไขมันที่มีมากเกินไปจะส่งผลทำให้เซลล์กระดูกอ่อนและเซลล์กระดูกเสื่อมเร็วขึ้น
  4. การทำกิจกรรมหรือกิจวัตรประจำวันที่มีแรงกดต่อข้อเข่ามากนั้นจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อม เช่น การวิ่งมาราธอน การเดินขึ้น-ลงบันได เป็นต้น
  5. ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุบริเวณข้อ เส้นเอ็น หรือการบาดเจ็บเรื้อรังจากการออกกำลังกาย
  6. โรคประจำตัวที่มีผลกับข้อเข่า เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เกาต์

 

อาการของโรคเข่าเสื่อม

  1. ปวดเข่าบริเวณข้อ ปวดเรื้อรัง ปวดมากขึ้นเมื่อมีการใช้งาน และทุเลาลงเมื่อพักการใช้งาน
  2. มีเสียงในข้อเข่าเมื่อขยับเคลื่อนไหว
  3. ข้อเข่าตึง ฝืด เมื่อพักการใช้งานข้อเข่าเป็นเวลานาน
  4. ปวดเสียวที่ข้อเข่าเมื่อขึ้น-ลงบันได
  5. เข่าเปลี่ยนรูปเกิดจากการเสื่อมของเข่า และเกิดกระดูกงอกทำให้เข่าเปลี่ยนรูป

 

การวินิจฉัยเข่าเสื่อม

แพทย์จะเริ่มต้นจากการถามประวัติ เช่น อาการ โรคประจำตัว หรือพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน และตรวจสอบอาการต่าง ๆ จากการตรวจเข่าวินิจฉัยอาการเบื้องต้น เช่น อาการบวมแดง อาการกดเจ็บ และดูการเคลื่อนไหวของข้อเข่า เพื่อช่วยให้ได้ละเอียดและหาสาเหตุได้ชัดเจนยิ่งขึ้น หรือวินิจฉัยหาสาเหตอื่น ๆ ด้วยการตรวจเพิ่มเติม ได้แก่ เอกซเรย์ (X-rays) หรือใช้เครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging: MRI)

 

นอกจากนั้น แพทย์อาจตรวจน้ำในไขข้อหรือตรวจเลือด เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจทำให้มีอาการปวดข้อหรืออาการที่คล้ายเข่าเสื่อม เช่น รูมาตอยด์ โรคเก๊าท์  การอักเสบหรือการติดเชื้อต่าง ๆ เป็นต้น

 

หากคุณต้องการเข้ารับการตรวจเนื่องจากมีอาการต้องสงสัย ขอแนะนำให้เข้ารับการตรวจด้วย MRI Knee (ตรวจส่วนหัวเข่า) เพราะสามารถแสดงรายละเอียดของข้อเข่าได้อย่างชัดเจน ทำให้คุณสามารถไปพบแพทย์พร้อมผลการตรวจและเข้ารับการรักษาได้อย่างตรงจุดและแม่นยำมากยิ่งขึ้น