จากข้อมูลของสถาบันมะเร็งแห่งชาติมะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับ 2 ของประเทศไทยและมีอัตราผู้ป่วย 22.7 คนต่อประชากร 100,000 คน มะเร็งปอดมักไม่มีสัญญาณเตือนในระยะแรกกว่าผู้ป่วยจะมาพบแพทย์ก็เป็นระยะที่มะเร็งแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายแล้วทำให้รักษาได้ยากและผู้ป่วยส่วนใหญ่เสียชีวิตในที่สุด ในทางกลับกันหากตรวจพบมะเร็งปอดได้ตั้งแต่ในระยะแรกมีโอกาสรักษาให้หายขาดได้จะมีสูงถึง 90%
การตรวจพบมะเร็งปอดในระยะเริ่มต้น ขณะที่ยังไม่แสดงอาการใด ๆ นั้น มีโอกาสรักษาหายได้มากกว่า โดยที่ผู้ป่วยได้รับปริมาณรังสีจากการตรวจน้อยกว่าการตรวจด้วยวิธีเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบมาตรฐาน (Computed Tomography CT–Chest)
สาเหตุที่สำคัญของมะเร็งปอดคือการสูบบุหรี่ การตรวจคัดกรองมะเร็งปอดมักทำในคนที่สูบบุหรี่ ซึ่งจัดเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงเป็นหลักแต่เป็นที่น่าสนใจว่าในปัจจุบันเริ่มมีผู้หญิงจำนวนมากที่ไม่เคยสูบบุหรี่ และไม่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น ไม่มีคนใกล้ชิดสูบบุหรี่แต่พบว่าเป็นมะเร็งปอด ดังนั้นการเน้นการตรวจคัดกรองแต่เฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงสูงเท่านั้นอาจไม่เพียงพอ เพราะทำให้ไม่ได้รับการตรวจและไม่พบผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะเริ่มต้นในกลุ่มนี้
ผู้ที่ควรเข้ารับการตรวจ และได้รับประโยชน์สูงสุดจากการตรวจ
- ผู้ที่สูบบุหรี่จัด มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป เช่น ผู้ที่สูบบุหรี่ 20 มวน/วันระยะเวลาติดต่อกัน 30 ปีขึ้นไป หรือ สูบบุหรี่ 40 มวน/วัน ติดต่อกัน 15 ปีขึ้นไป รวมถึงผู้ที่หยุดสูบบุหรี่มาแล้ว แต่น้อยกว่า 15 ปี
- ผู้ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ได้รับสารพิษเช่น ฝุ่น PM 2.5 แร่ใยหิน (Asbestos) ติดต่อกันเป็นเวลานาน
- ผู้ที่มีประวัติโรคปอดเรื้อรัง เช่นโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง (Chronic bronchitis) หรือโรคผังผืดที่ปอด (Pulmonary fibrosis)