จากสถิติสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2562 จะพบผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากที่ได้รับการวินิจฉัยใหม่ จำนวนถึง 233,000 คน คิดเป็นร้อยละ 24 ของมะเร็งทั้งหมดอย่างไรก็ตาม อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งปอด อาจเนื่องด้วยเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากมีการกระจายตัวช้ากว่า รวมทั้งการตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากที่ทำให้วินิจฉัยมะเร็งได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ทำให้ผลการรักษาดีขึ้น ปัจจุบันอัตราการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมากมีเพิ่มมากขึ้น โดยปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค ได้แก่
- อายุ ยิ่งอายุมากขึ้น โอกาสเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากก็สูงขึ้น ส่วนใหญ่จะพบในผู้ชายที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
- พันธุกรรม ผู้ที่มีประวัติบิดาหรือพี่น้องเคยเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากจะมีโอกาสเสี่ยงกว่าคนทั่วไป
- เชื้อชาติ พบมากในกลุ่มชายชาวตะวันตกทั้งในยุโรปและอเมริกา ขณะที่ชาวเอเชียพบได้น้อยกว่า
- อาหาร การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง ให้พลังงานสูง และอาหารจากพวกเนื้อแดงอย่างต่อเนื่อง อาจเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากได้
มะเร็งต่อมลูกหมากในระยะแรกมักไม่แสดงอาการใด ๆ แต่เมื่อมะเร็งขยายตัวมากขึ้นจนไปกดทับท่อปัสสาวะ จะทำให้เกิดอาการแปรปรวนของระบบทางเดินกระเพาะปัสสาวะส่วนล่าง เช่น ปัสสาวะบ่อยโดยเฉพาะช่วงกลางคืน มีอาการแสบขัดขณะปัสสาวะ ปัสสาวะไม่สุด ปัสสาวะไม่พุ่งหรือต้องใช้เวลาในการเบ่ง หากปล่อยทิ้งไว้ผู้ป่วยจะปัสสาวะลำบากและบ่อยขึ้นจนถึงขั้นปัสสาวะเป็นเลือดได้
การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
- การตรวจทางทวารหนักเพื่อคลำหาก้อนมะเร็ง โดยแพทย์จะใช้นิ้วสอดเข้าทางทวารหนัก เพื่อตรวจคลำขนาดรูปร่าง และความยืดหยุ่นของต่อมลูกหมาก
- การเจาะเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็ง PSA ซึ่งสารชนิดนี้จะถูกผลิตขึ้นมามากกว่าในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก
- การตรวจโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เป็นการถ่ายภาพคอมพิวเตอร์อีกชนิดหนึ่งที่ไม่อาศัยรังสีเอกซ์ แต่อาศัยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยทำให้เห็นภาพของอวัยวะภายในได้ละเอียดแม่นยำ และติดตามรักษาโรคได้เป็นอย่างดีโดยไม่ต้องเจ็บตัว
- การตรวจอัลตราซาวนด์ต่อมลูกหมากผ่านทางทวารหนัก เป็นการตรวจโดยใช้คลื่นเสียง ซึ่งแพทย์จะใช้เครื่องมือสอดเข้าทางทวารหนักไปยังตำแหน่งของต่อมลูกหมาก จากนั้นจะใช้เข็มขนาดเล็กดูดเซลล์ต่อมลูกหมาก 12 ตัวอย่างจาก 12 ตำแหน่ง ออกมาตรวจทางพยาธิวิทยา