ปวดหลังสัญญาณบอก(หลาย)โรคที่ไม่ควรมองข้าม

เมื่อมีอาการปวดหลัง หลายคนเลือกที่จะเมินเฉยกับอาการปวดนี้ หรือแค่อาจหายาแก้ปวดมารับประทานเพื่อบรรเทาอาการเท่านั้น ข้อสังเกตสำคัญหากมีอาการปวดหลังร่วมกับอาการร้าวลงขา หรือปวดคอร้าวลงแขน และปวดบริเวณอื่น ๆ ร่วมด้วย คงไม่ใช่แค่อาการปวดหลังธรรมดาเพราะอาการปวดหลังในแต่ละแบบนั้น อาจเป็นสัญญาณเตือนบ่งบอกความผิดปกติของร่างกายหรือโรคต่าง ๆ ได้

 

อาการปวดหลังแบบไหน บ่งบอกโรคอะไรได้บ้าง ?

  • ปวดหลังแบบกว้าง ๆ ก้มหรือแอ่นหลังไม่ได้ – กล้ามเนื้อหลังอักเสบเฉียบพลัน
    โรคนี้ไม่ได้เกิดหรือเกี่ยวข้องกับกระดูกสันหลังโดยตรง แต่เป็นที่กล้ามเนื้อหลังโดยเฉพาะส่วนใหญ่เกิดจากการที่กล้ามเนื้อหลังถูกใช้งานมากเกินไป เกิดอุบัติเหตุโดนกระแทกที่หลัง การเล่นกีฬาอย่างหนัก จนทำให้กล้ามเนื้อหลังอักเสบอักเสบเฉียบพลันทันที โดยอาการที่พบจะปวดเกร็งหลัง ปวดตึงหลัง จนต้องแอ่นหลังตลอดเวลา รู้สึกปวดหลังแบบกว้าง ๆ ระบุตำแหน่งชัดเจนไม่ได้รวมทั้งอาการยังคล้ายหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท แต่ไม่มีอาการปวดร้าวลงขา
  • ปวดหลังร้าวลงขา ไอ จาม จะยิ่งปวด – โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
    โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เกิดจากเจลในหมอนรองกระดูกสันหลังปลิ้นออกมาไปกดทับเส้นประสาทไขสันหลัง หรือรากประสาท ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการก้ม ๆ เงย ๆ ยกของหนัก นั่งทำงานอยู่ในท่านั่งเดิมเป็นเวลานานแล้วไม่ค่อยได้เปลี่ยนอิริยาบถ ซึ่งถือเป็นอาการออฟฟิศซินโดรม รวมถึงความเสื่อมตามธรรมชาติ ผู้ป่วยจะมีอาการมีอาการปวดหลังรุนแรง ปวดมากจนไม่อาจขยับตัวได้ ปวดหลังร้าวลงขา ปวดขณะไอ จาม รวมไปถึงอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น อาการชา ขาอ่อนแรง มีอาการผิดปกติในการควบคุมปัสสาวะและ อุจจาระ มีปัญหาในการเดิน เช่น ทรงตัวได้ไม่ดี เดินลาบาก ขาแข็งเกร็ง เป็นต้น
  • ปวดหลังแบบขัด ๆ ภายในข้อ ปวดลึก ปวดเสียว – โรคกระดูกสันหลังเสื่อม
    มักพบบ่อยในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้หญิงอายุ 40 ปีขึ้นไป โรคกระดูกสันหลังเสื่อมนั้นเป็นภาวะที่กระดูกสันหลังทรุดตัวจากข้อต่อ Facet joint ที่ทำหน้าที่เชื่อมกระดูกชิ้นบนกับชิ้นล่างที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหว เกิดเสื่อมลง เป็นผลให้ข้อกระดูกชิ้นบนกับชิ้นล่างอยู่ชิดกันมากเกินไป หากเป็นในระยะแรกมักไม่แสดงอาการแต่ถ้าเมื่อใดที่ข้อต่อนั้นเสื่อมสภาพลงมากจนทำให้กระดูกสันหลังทรุดตัวลงเพิ่มมากขึ้น จะมีอาการปวดหลัง เมื่อใช้มือกดไปที่ข้อกระดูกสันหลังตรง ๆ จะรู้สึกปวดลึก ปวดเสียว และรู้สึกขัด ๆ ภายในข้อ สามารถชี้ระบุตาแหน่งได้ชัดเจนหลังแข็งก้มหลังได้น้อยลง บางครั้งอาจเกิดกล้ามเนื้อหลังหดเกร็งค้าง จนนาไปสู่อาการปวดหลังจากกล้ามเนื้อหลังอักเสบได้
  • ปวดหลังส่วนล่าง ปวดร้าวลงสะโพก ก้น ต้นขา – โรคกระดูกสันหลังเคลื่อน
    โรคกระดูกสันหลังเคลื่อน เป็นภาวะที่มีการเคลื่อนของกระดูกสันหลังข้อหนึ่งไปด้านหน้ามากกว่าปกติ โดยมักพบในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป เกิดจากข้อต่อกระดูกสันหลังเสื่อม อุบัติเหตุที่มีการกระแทกต่อกระดูกสันหลังโดยตรงจนทำให้ข้อเคลื่อน ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ ผู้ที่อ้วนลงพุง ผู้ที่ทำงานต้องก้ม ๆ เงย ๆ เป็นประจำ และอาจเกิดจากติดเชื้อที่กระดูกสันหลัง เช่น วัณโรคกระดูกหลัง เป็นต้น โดยมีอาการปวดหลังส่วนล่าง ปวดมากเมื่อยืนหรือเดิน ผู้ที่มีกระดูกสันหลังเคลื่อนมากจะมี อาการปวดร้าวลงสะโพก ก้น ต้นขา แต่ถ้ากระดูกเคลื่อนไปโดนเส้นประสาทจะมีอาการขาชา และขาอ่อนแรงร่วมด้วย

 

แนวทางตรวจวินิจฉัยโรค

ในปัจจุบันการตรวจด้วย MRI ถือว่าเป็นวิธีการตรวจที่เป็นมาตรฐาน สะดวกรวดเร็วและปลอดภัยในการวินิจฉัยโรคกระดูกสันหลังทุกชนิด ซึ่งมีความละเอียดชัดเจนสามารถตรวจพบความผิดปกติได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นก่อนที่จะมีอาการแสดงได้ ทำให้สามารถรักษาและป้องกันความเสียหายของกระดูกสันหลังได้ตั้งแต่เริ่มต้นก่อนที่จะลุกลามเสียหาย

 

ตรวจพบก่อนดีอย่างไร ?

การรักษาโดยการไม่ผ่าตัด เช่นการรับประทานยาแก้ปวดร่วมกับการกายภาพบำบัดที่ถูกต้องมักจะเพียงพอในคนไข้ส่วนใหญ่ แต่เมื่อเส้นประสาทเริ่มสูญเสียการทำงานลงจากการโดนกดทับ การนำสิ่งที่กดทับออกโดยเร็วย่อมจะเปิดโอกาสให้เส้นประสาทได้ฟื้นฟูตัวเองได้ดีกว่า เทคโนโลยีการผ่าตัดปัจจุบัน เช่น กล้องเอ็นโดสโคป เครื่องคอมพิวเตอร์นาวิถี หรือหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด มีส่วนช่วยให้การผ่าตัดปลอดภัยขึ้นแผลที่เล็กลงยังทำให้ผู้ป่วยฟื้นจากการผ่าตัดได้เร็ว และกลับคืนสู่ชีวิตปกติได้เร็วยิ่งขึ้นอีกด้วย