กระดูกสันหลังเสื่อม (Spondylosis) เป็นอาการที่กระดูกหมอนรองกระดูก ข้อต่อ เส้นเอ็นกระดูก และกล้ามเนื้อหลังเสื่อมสภาพ ส่งผลให้กระดูกสันหลังขาดความยืดหยุ่นและติดแข็งมากขึ้น กระดูกสันหลังเสื่อมมักเกิดบริเวณกระดูกสันหลังส่วนคอ กระดูกสันหลังส่วนอก และกระดูกสันหลังส่วนบั้นเอว แต่ที่พบได้มากที่สุดคือบริเวณกระดูกสันหลังส่วนคอและบั้นเอว กระดูกสันหลังเสื่อมเกิดจากการเสื่อมสภาพเมื่ออายุเพิ่มขึ้น โดยทั่วไปแล้วโรคนี้พบได้ในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันเริ่มพบในผู้ป่วยที่อายุต่ำกว่านั้นมากขึ้น หากความสามารถในการเคลื่อนไหวเริ่มผิดปกติหรือมีปัญหา มือ แขน เท้า และขามีอาการชาและอ่อนแรง
อาการของกระดูกสันหลังเสื่อม
อาการของกระดูกสันหลังเสื่อมจะปรากฎอาการปวดคอหรือปวดหลังแบบเป็น ๆ หาย แต่ผู้ป่วยบางรายอาจประสบกับอาการปวดเรื้อรัง หรือในบางครั้งอาการปวดอาจจะรุนแรงขึ้นเมื่อเปลี่ยนท่าทาง อาการอื่น ๆ ของกระดูกสันหลังเสื่อมมีดังนี้
- ปวดบั้นเอว
- กระดูกสันหลังติดแข็งและขยับตัวลาบาก
- มือ แขน เท้า หรือขา ข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างมีอาการชา อ่อนแรง หรือ เป็นเหน็บ
- ปวดศีรษะในบางครั้ง
- กลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ค่อยอยู่
ในกรณีที่มีการกดเบียดเส้นประสาทรุนแรง จะทำให้เดินลำบาก เดินแล้วไม่สมดุล ไม่มั่นคงเหมือนจะหกล้ม
สาเหตุของกระดูกสันหลังเสื่อม
กระดูกสันหลังเสื่อม คือการที่กระดูกหมอนรองกระดูก ข้อต่อ เส้นเอ็นกระดูก และกล้ามเนื้อหลังเสื่อมสภาพเมื่ออายุเพิ่มขึ้น จากการที่กระดูกสันหลังโค้งงอเป็นเวลานาน จนก่อให้เกิดแรงกดบนหมอนรองกระดูกและข้อต่อของกระดูกสันหลัง และเสียความยืดหยุ่นไป ยกตัวอย่างเช่น การนั่งติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ โดยเฉพาะการนั่งหลังค่อม พอลุกจากเก้าอี้กระดูกสันหลังจะถูกทำให้ตรงในทันทีจึงทาให้เกิดการเสียดทานขึ้น ร่างกายจึงสร้างกระดูกงอกออกมาจากข้อต่อเพื่อชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่ในบางครั้งกระดูกที่งอกขึ้นมานั้นมีขนาดใหญ่เกินไปจนเบียดกับเส้นประสาทและไขสันหลังทาให้เกิดอาการปวด ซึ่งมักพบทั่วไปในผู้สูงอายุ
การวินิจฉัยกระดูกสันหลังเสื่อม
แพทย์วินิจฉัยโรคกระดูกสันหลังเสื่อมจากอาการที่ผู้ป่วยเล่าให้ฟังว่ามีอาการปวดลักษณะดังกล่าว แล้วตรวจร่างกายเบื้องต้นสำหรับกระดูกสันหลังส่วนคอ โดยแพทย์จะให้ผู้ป่วยหันศีรษะจากซ้ายไปขวา และให้เอียงศีรษะไปที่บ่า สาหรับการตรวจกระดูกสันหลังส่วนบั้นเอวนั้น แพทย์อาจให้ผู้ป่วยก้มลงหรือเคลื่อนไหวหลังและเอวไปในทิศทางต่าง ๆ ทั้งหมดนี้เพื่อทดสอบว่าการเคลื่อนไหวนั้นถูกจำกัดหรือไม่ และเนื่องจากกระดูกสันหลังเสื่อมส่งผลให้เกิดปัญหาต่อการใช้มือและการเดิน แพทย์อาจทดสอบมือ แขน เท้าและขาของผู้ป่วยว่ายังรู้สึกตอบสนองต่อการสัมผัสหรือไม่ หากพบว่าผู้ป่วยมีปัญหาต่อการตอบสนองที่อาจบ่งบอกถึงความเสียหายของเส้นประสาท แพทย์อาจต้องขอเอกซเรย์เพื่อจะได้วินิจฉัยอาการเพิ่มเติมต่อไป
การทำเอ็มอาร์ไอ
วิธีนี้ถูกนำมาใช้เพื่อแสดงให้เห็นภาพภายในร่างกายอย่างละอียด การสแกนโดยใช้สนามแม่เหล็กและคลื่นวิทยุของเอ็มอาร์ไอนั้นเป็นประโยชน์มากต่อการตรวจหาความเสียหายของเส้นประสาทที่สำคัญ และซ่อนอยู่ได้อย่างชัดเจนแม่นยำ
การทำซีทีสแกน
การทำซีทีสแกนคือการนำชุดภาพเอกซเรย์จากการเอกซเรย์หลาย ๆ ครั้งจากหลาย ๆ มุมมาประกอบรวมกัน ทำให้ได้ภาพกระดูกที่ละเอียดกว่าการทำเอกซเรย์ธรรมดา และในบางกรณีที่ผู้ป่วยมีเหตุผลทางการแพทย์ ทำให้ไม่สามารถทำเอ็มอาร์ไอได้ ซีทีสแกนจึงเป็นวิธีที่ถูกนำมาใช้แทน