ตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลกในปี 2563 มะเร็งตับเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยที่สุดในคนไทย เป็นจำนวนมากถึง 27,394 ราย หรือคิดเป็น 14.4% ของโรคมะเร็งทั้งหมด ในจำนวนนี้ผู้ป่วย 26,704 รายเสียชีวิต ซึ่งคิดเป็น 21.4% ของผู้ป่วยที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งทั้งหมด มะเร็งตับเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยที่สุดในชายไทยมากกว่าผู้หญิงประมาณ 2-3 เท่า โดยมักพบในคนอายุ 30-70 ปี เนื่องจากเพศชายมีปัจจัยเสี่ยงมากกว่าเพศหญิง โรคมะเร็งตับในระยะแรกมักไม่แสดงอาการ
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งตับ
– เพศชายอายุ 30 ปีขึ้นไป
– ผู้ป่วยที่มีประวัติไวรัสตับอักเสบบีหรือซี
– ผู้ป่วยที่มีโรคตับแข็งจากสาเหตุใดก็ตาม เช่น ภาวะไขมันเกาะตับจนทำให้เกิดภาวะตับอักเสบ, กลุ่มโรคที่มีการอักเสบ
ของท่อน้ำดีเรื้อรัง, หรือกลุ่มโรคพันธุกรรมที่ทำให้มีเหล็กพอกตับ
– การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก
– การสูบบุหรี่
– โรคอ้วน เบาหวาน และกลุ่มโรคเมตาบอลิก
– การได้รับสารพิษชนิด Aflatoxins
– การได้รับสาร vinyl chloride และ thorium dioxide ที่พบในอุตสาหกรรมพลาสติกมาเป็นเวลานาน
– การใช้ฮอร์โมนประเภท anabolic steroids เช่น ฮอร์โมนเพศชายเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้ออย่างผิดวิธี
อาการมะเร็งตับ
มะเร็งตับในระยะแรกมักไม่แสดงอาการ แต่เมื่อเป็นมากขึ้นอาจมีอาการ ดังนี้
– ปวดท้อง โดยเฉพาะบริเวณข้างขวาส่วนบนในบางรายอาจมีอาการปวดร้าวไปที่หลังหรือไหล่
– ท้องบวมขึ้น
– น้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
– เบื่ออาหาร ไม่รู้สึกอยากอาหาร
– รู้สึกอ่อนเพลีย
– มีไข้โดยไม่ทราบสาเหตุ
– คลำพบก้อนที่บริเวณตับ
– ตัวเหลืองและตาเหลือง
การวินิจฉัยโรคมะเร็งตับ
– การซักประวัติ และการตรวจร่างกาย
– การตรวจเลือดดูการทำงานของตับ ไวรัสตับอักเสบ และสารบ่งชี้มะเร็งตับ (alpha-fetoprotein)
– การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อช่วยในการวินิจฉัย