ข้อมือเรื้อรัง

อาการปวดข้อมือ ที่ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็ก แต่จริงๆ แล้วเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องใส่ใจ เพราะอาการเจ็บข้อมือเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งยังมีรายละเอียดมากมายไม่แพ้เครื่องยนต์กลไลของนาฬิกาข้อมือที่เล็กและละเอียดอ่อนมาก ดังนั้นเราไม่ควรมองข้ามอาการเจ็บหรือปวดที่ข้อมือ เพราะวิธีการรักษาในแต่ละสาเหตุก็ค่อนข้างแตกต่างกันอย่างมากเช่นกัน

โดยเฉพาะ อาการเจ็บหรือปวดที่ข้อมือ ที่เป็นมานาน ไม่หายสักที คือสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะตามปกติเเล้ว อาการเจ็บปวดของส่วนต่างๆ ในร่างกาย ควรจะหายเองได้หลังจากได้พักการใช้งาน หรือรับประทานยาลดปวด ลดอักเสบสักระยะหนึ่ง แต่หากอาการปวด หรือบาดเจ็บเหล่านี้ยังคงอยู่กับเรา ไม่บอกลาไปเสียที ย่อมบ่งบอกถึงปัญหาที่ต้องได้รับการวินิจฉัย และรักษาก่อนที่อาการเหล่านั้นจะกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง

 

คุณอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่ออาการเจ็บข้อมือเรื่อรังหรือไม่

ไม่ว่ากิจกรรมใดก็ตามที่ต้องการใช้งานข้อมือซ้ำๆในลักษณะเดิมๆ ก็เป็นเหตุที่ทำให้เจ็บข้อมือได้ทั้งนั้น จะเเตกต่างกันก็ตรงที่ส่วนไหนจะได้รับบาดเจ็บเท่านั้นเอง ซึ่งก็ขึ้นกับลักษณะของกิจกรรมที่ทำ แม้กิจกรรมเบาๆ ที่เราคิดไม่ถึงว่าเป็นสาเหตุได้เช่นการทำงานบ้านปกติ เล่นกีฬาที่เล่นเป็นประจำ หรือแม้กระทั่งการทำงานบนโต๊ะทำงานที่เราคิดว่าเเสนจะปกติก็ตาม ซึ่งถ้ามากเกินไปก็อาจเป็นเหตุให้บางจุดเล็กๆ ในข้อมือเราเจ็บป่วยได้โดยไม่จำเป็นต้องเกิดจากอุบัติเหตุหรือการใช้งานหักโหมต่างๆ

 

อาการปวดข้อมือลักษณะต่างๆ

อาการปวดบริเวณข้อมือ อาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติบางอย่าง การสำรวจตัวเองเบื้องต้นเป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะอาการแต่ละแบบอธิบายสาเหตุที่เกิดขึ้นได้ เช่น

  • อาการปวดข้อมือที่เกิดขึ้นตอนกลางคืน หรือในตอนที่ไม่ได้ใช้งาน
  • ไม่สามารถหยิบจับ หรือถือสิ่งของได้อย่างที่เคยเป็นมา
  • อาการปวดข้อมือที่ยังคงอยู่ แม้ว่าจะผ่านไปหลายวัน รวมทั้งพักการใช้งานแล้ว
  • เจ็บปวด หรือ ไม่สามารถยืดหรือเหยียดข้อมือได้
  • มีอาการเจ็บปวดบริเวณอื่นร่วมด้วย เช่น แขน มือ
  • มีไข้ บวม แดง ร้อน นอกเหนือจากปวดข้อ

 

โรคที่พบบ่อยเมื่อเจ็บข้อมือ

อาการเจ็บปวดส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นที่ส่วนเอ็นรอบๆ ข้อมือ แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ เอ็นอักเสบ และเอ็นฉีกขาด ซึ่งจะเป็นตรงจุดไหนก็ขึ้นกับลักษณะการใช้งานเป็นสำคัญ

 

เอ็นอักเสบ

  • ส่วนมากเอ็นที่อักเสบ มักจะเป็นเส้นเอ็นยอดนิยม ซึ่งการวินิจฉัยไม่ยุ่งยาก การตรวจร่างกายก็สามารถให้การวินิจฉัยได้
  • ส่วนเอ็นบางจุดที่ไม่ได้เป็นกันบ่อยๆ ทำให้มักถูกมองข้ามไป มักเป็นสาเหตุที่เจ็บเรื้อรังไม่หายสักที เส้นเอ็นที่อักเสบในกลุ่มนี้ จำเป็นต้องใช้ประสบการณ์ในการตรวจจากแพทย์เฉพาะทางด้านมือและข้อมือ หรืออาจจำเป็นต้องตรวจเพิ่มเติมด้วยภาพวินิจฉัย (diagnostic imaging) ที่เหมาะสม

 

เส้นประสาทถูกกดทับ

เป็นอาการเจ็บปวดข้อมือแบบหนึ่งที่พบได้บ่อยๆ ซึ่งอาการปวดจากเส้นประสาทถูกกดทับ มักยากจะบอกได้ว่าเป็นจุดใดบริเวณใดชัดเจน นอกจากอาการปวดเเล้ว มักจะมีอาการชา ยุบยิบ เหมือนเป็นเหน็บ หรืออาจพบอาการแสบร้อนบริเวณมือร่วมด้วยได้เช่นกัน

 

กลุ่มอาการพังผืดกดทับเส้นประสาทที่ข้อมือ

  • เกิดจากเส้นประสาทในข้อมือถูกเอ็นพังผืดเบียดทับ
  • ทำให้เกิดอาการปวดข้อมือ ร่วมกับมีอาการชาที่บริเวณนิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และบางส่วนของนิ้วนาง
  • ที่เรียกว่ากลุ่มอาการ เพราะว่าผู้ป่วยแต่ละรายมีหลายอาการรวมกัน ทั้งปวด ทั้งชา บางรายเป็นคล้ายเป็นเหน็บ หรือบ้างก็แสบร้อน อาการอาจแตกต่างกัน ไม่เหมือนกันสักทีเดียว ความรุนแรงของอาการก็อาจต่างกันได้
  • กลุ่มอาการนี้มักเกิดในคนที่ใช้มือซำ้ๆ เช่น ทำงานบ้าน ทำอาหาร หรือมีกิจกรรมที่ข้อมืออยู่ในท่าเดิมนานๆ เช่น ขับรถ เขียนหนังสือ ใช้โทรศัพท์ ใช้คอมพิวเตอร์ หรือแม้กระทั่งถือของ หิ้วของเป็นเวลานาน
  • หากมีอาการมานานไม่ควรละเลย เพราะการที่เส้นประสาทถูกกดเบียดนานๆ เส้นประสาทอาจจะเสื่อมได้ หรือกล้ามเนื้อที่มือก็อาจจะลีบ ส่งผลต่อการใช้งานของมือข้างนั้น

 

ถุงน้ำที่ข้อมือ

  • ภาวะอย่างหนึ่ง ที่เกิดขึ้นได้บริเวณข้อมือจากการใช้งานในชีวิตประจำวันซ้ำๆ หรืออาจเกิดจากอุบัติเหตุเล็กๆ น้อยๆ จนเยื่อหุ้มข้อมือฉีกขาด ส่งผลให้น้ำหล่อเลี้ยงในข้อมือรั่วออกมาเกิดเป็นถุงน้ำโป่งออกมาให้เห็น
  • ถุงน้ำนี้มักจะอยู่ในบริเวณหลังข้อมือ ซึ่งขนาดของถุงน้ำขนาดอาจจะใหญ่ขึ้นหรือเล็กลงบ้างบางช่วงเวลา  แต่ก็จะไม่ขยายใหญ่จนเป็นอันตราย
  • มีอาการเจ็บร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้
  • หากมีอาการเจ็บไม่หายแม้ได้รับการรักษาเบื้องต้นแล้ว หรือมีความกังวลเรื่องความสวยงามและบุคลิกภาพ  ก็สามารถผ่าตัดรักษาเพื่อทำให้ซีสต์ถุงน้ำนั้นหายไป

 

แนวทางการวินิจฉัย

ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดข้อมือติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ขอแนะนำให้ตรวจ MRI Wrist (ข้อมือ) เพื่อตรวจดูความเสียหายของเอ็นข้อมือ เพราะสามารถตรวจดูเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อได้เป็นอย่างดีทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรค         ได้อย่างถูกต้องแม่นยำมากที่สุด