การออกกำลังกาย หรือการเล่นกีฬาย่อมต้องการการเคลื่อนไหว และการใช้กำลังของกล้ามเนื้อมากกว่าปกติ อย่างกีฬา เทนนิส แบดมินตัน ที่ต้องใช้แรงจากข้อไหล่มากๆ จึงมีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บมากขึ้นกว่าปกติ ซึ่งการบาดเจ็บของข้อไหล่ที่ขณะเล่นกีฬา อาจเป็นการบาดเจ็บเรื้อรังจากการใช้ข้อไหล่ซ้ำๆ เมื่อไรก็ตามที่เริ่มเจ็บหัวไหล่ ไขว้มือไปด้านหลังได้ไม่สุด ติดตะขอด้านหลังไม่ได้ หรือปวดไหล่อย่างรุนแรง แสดงว่าเกิดปัญหาข้อไหล่ ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษา
ข้อไหล่เจ็บจากกีฬาเกิดขึ้นได้อย่างไร
กระดูกข้อไหล่เป็นข้อที่หัวกระดูกและเบ้าไม่ลึกมาก ประกอบขึ้นเป็นข้อไหล่อย่างหลวมๆ โดยมีเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อรอบหัวไหล่ยึดโดยรอบ ทำให้ข้อไหล่มีโอกาสเคลื่อนหลุดได้บ่อยกว่าข้ออื่นๆ ในร่างกาย โดยการบาดเจ็บข้อไหล่มักเกิดจากการปะทะ กระชากไหล่ หรือการได้รับการกระแทกโดยตรง เช่น การล้มแล้วไหล่ลงกระแทกกับพื้น หรือไม่กระทบโดยตรง เช่น การล้มแล้วเอามือยันพื้นแรงเลยส่งมากระทบที่ไหล่ มีการเหนี่ยวผิดท่า หรือการใช้ข้อไหล่ซ้ำๆ การเหวี่ยงหรือขว้างบอลอย่างรุนแรง ทำให้เกิดการกระชากของกล้ามเนื้อ หรือเส้นเอ็นหัวไหล่ที่หลุดเคลื่อนหรือฉีกขาดได้เช่นกัน โดยกีฬาที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บข้อไหล่ อาทิ เทนนิส ว่ายน้ำ เบสบอล แบดมินตัน บาสเกตบอล วอลเลย์บอล ซอฟต์บอล เป็นต้น
อาการบาดเจ็บข้อไหล่
อาการที่เกิดขึ้นหลังจากได้รับอุบัติเหตุจากการเล่นกีฬา สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งจากภาวะการอักเสบของกล้ามเนื้อบริเวณข้อไหล่ ที่มักจะมีอาการปวดบริเวณหัวไหล่ร่วมกับกดเจ็บบริเวณกล้ามเนื้อ ตลอดจนเอ็นข้อไหล่ฉีกขาดซึ่งจะส่งผลให้เกิดอาการปวดไหล่ด้านหน้าและด้านข้าง อาจร้าวลงมาที่ต้นแขน ไม่สามารถขยับหรือยกแขนได้ตามปกติ มักจะปวดไหล่มากเวลานอนตะแคงทับ ถ้ารอยขาดมีขนาดใหญ่ ผู้ป่วยจะยกแขนไม่ขึ้น รู้สึกชาและกำลังแขนอ่อนแรงเนื่องจากกล้ามเนื้อรอบข้อไหล่ฝ่อตัว
การวินิจฉัยอาการเจ็บข้อไหล่
เบื้องต้น แพทย์จะทำการตรวจร่างกายและสอบถามอาการเบื้องต้น เพื่อวินิจฉัยสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเจ็บข้อไหล่ เช่น กิจกรรมที่ทำก่อนจะมีอาการ ลักษณะของอาการปวด ความถี่และระยะเวลาที่เกิดอาการ นอกจากนี้แพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยพิเศษเพิ่ม ด้วยเครื่องมือที่จำเป็น อาทิ การตรวจเอ็กซเรย์และการตรวจภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อการวินิจฉัยที่แม่นยำ และการรักษาที่ถูกต้องต่อไป
การรักษาบาดเจ็บข้อไหล่
การรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการปวดไหล่ หากวินิจฉัยแล้วเป็นแค่การอักเสบของกล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็นบริเวณข้อไหล่ และยังสามารถขยับออกท่าทางเคลื่อนไหวได้บ้าง ก็จะรักษาด้วยการให้พักใช้ไหล่และแขน ร่วมกับการรับประทานยาลดการอักเสบ การประคบร้อนหรือประคบเย็น ในบางกรณีอาจมีการทำกายภาพบำบัดรูปแบบต่างๆ เพื่อให้หัวไหล่ขยับได้มากขึ้นเรื่อยๆ แต่ในกรณีผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงเจ็บปวดมาก ไม่สามารถใช้งานหัวไหล่ได้ หรือเกิดจากภาวะเอ็นข้อไหล่ฉีกขาด อาจจำเป็นต้องพิจารณาผ่าตัด แพทย์จะใช้การรักษาด้วยวิธี
ผ่าตัดเปลี่ยนเอ็นข้อไหล่ หากต้องการกลับมาใช้ไหล่ได้ปกติเท่าเดิม