คำกล่าวที่ว่าเมื่อเกิดการบาดเจ็บเข่าแล้ว ต้องหยุดเล่นหรือหมดอนาคตไปเลยนั้นมีโอกาสน้อยลงมาก ๆ ในปัจจุบัน เมื่อเทียบกับอดีต ปัจจุบันความเข้าใจในกลไกของข้อเข่ามีมากขึ้น ทำให้สามารถรักษา แก้ไขปัญหาซึ่งในอดีตแก้ไขไม่ได้หรือได้ผลไม่ดีให้กลับมาได้ผลดีเลิศ และกลับไปเล่นต่อได้ในระดับเดิมหรือใกล้เคียงเดิม อย่างไรก็ตามการป้องกันย่อมดีกว่ารอรักษาเมื่อเกิดการบาดเจ็บ
สาเหตุการบาดเจ็บบริเวณข้อเข่า
สาเหตุการบาดเจ็บบริเวณข้อเข่าส่วนใหญ่เกิดจากการปะทะ การบิดของเข่า เมื่อเกิดการปะทะหรือเสียบ การกระโดดหรือรีบยกเท้าขึ้นไม่ให้เท้ายันอยู่กับพื้นสนามจะช่วยลดความรุนแรงของการบิดหรือกระแทกได้ ส่วนการบาดเจ็บที่ไม่ได้เกิดจากการปะทะมักมีสาเหตุมาจากกล้ามเนื้อที่ตึง ไม่ยืดหยุ่น หรือไม่มีความแข็งแรง ทำให้เข่าเกิดการบาดเจ็บ แต่มักเป็นการบาดเจ็บแบบค่อยเป็นค่อยไป หรือสะสมมากกว่าจะเป็นการกระแทกแล้วฉีกขาดเลย
ป้องกันการบาดเจ็บบริเวณข้อเข่า
การป้องกันการบาดเจ็บบริเวณข้อเข่าต้องเข้าใจว่า ทุกองค์ประกอบมีผลทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น สภาพพื้นสนาม, รองเท้า, ทัศนคติของเพื่อนร่วมเล่น, ปัจจัยภายในของเข่าเอง ทั้งการบาดเจ็บในอดีตหรือกล้ามเนื้อที่ไม่ยืดหยุ่นแข็งแรงเพียงพอ ปัจจัยเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการป้องกันการบาดเจ็บได้เสมอ และไม่ใช่เฉพาะแค่เข่าอย่างเดียว
การปฐมพยาบาลเมื่อบาดเจ็บบริเวณข้อเข่า
หากเกิดการบาดเจ็บบริเวณข้อเข่าขึ้นแล้ว การดูแลปฐมพยาบาลเบื้องต้นคือ ให้นอนอยู่นิ่ง ๆ รอคนมา อาจเป็นเพื่อนหรือนักกายภาพ อย่าเพิ่งพยายามขยับเอง รีบประคบเย็น เมื่อทิ้งเวลาสักพักให้ลองขยับเข่าด้วยตัวเอง และสังเกตว่าเจ็บบริเวณไหน ลองงอเข่าเหยียดเข่าดู พยายามค่อย ๆ ลงน้ำหนัก สังเกตอาการบวมว่าเกิดขึ้นทันทีหรือไม่ หรือมีความรู้สึกมีเสียงดังคล้าย ๆ เสียงฉีกขาดของเอ็นในขณะเกิดอุบัติเหตุหรือไม่ สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญเมื่อไปพบแพทย์ แต่ถ้าปวดมากขยับไม่ได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดามด้วยไม้หรืออุปกรณ์ที่มีและพันผ้ายึดให้แข็งแรง ถ้าข้อเข่าผิดรูป บิดเบี้ยว อย่าพยายามกด ดัน ดึง หรือปรับให้เข้าที่เอง ให้ดามอยู่ในลักษณะนั้นจนกว่าจะถึงมือแพทย์
การตรวจวินิจฉัยโรคข้อเข่า
หลังจากที่เราพูดถึงลักษณะการบาดเจ็บ และอาการของโรคกันไปแล้ว สิ่งสำคัญต่อมาที่จะช่วยในการวินิจฉัย ก็คือ การตรวจ MRI นอกจากเราจะยืนยันการวินิจฉัยการบาดเจ็บเส้นเอ็นไขว้หน้าแล้ว เรายังสามารถมองเห็นการบาดเจ็บร่วมอื่นๆ ที่สำคัญได้ด้วย
เราจะเห็นอะไรบ้างจาก MRI ในผู้ป่วยที่บาดเจ็บข้อเข่า
ในภาพ MRI เราจะสามารถดูลักษณะเส้นเอ็นไขว้หน้าที่ฉีกขาด รวมถึงการบาดเจ็บของอวัยวะอื่นๆในหัวเข่าได้ละเอียดมากขึ้น โดยลักษณะภาพ MRI ในผู้ป่วยเอ็นไขว้หน้าฉีกขาดเรามักจะพบความผิดปกติ ดังนี้
มีการฉีกขาดของเอ็นไขว้หน้าหรือ ACL
– มีร่องรอยกระดูกช้ำที่บริเวณกระดูกต้นขา และกระดูกหน้าแข้ง
– เส้นเอ็นไขว้หลังหย่อน
– มีการฉีกขาดของหมอนรองเข่าทั้งทางด้านในและด้านนอก
– พบการบาดเจ็บของเส้นเอ็นไขว้หลัง เส้นเอ็นประกบทั้งทางด้านนอกและด้านใน
– มีการบาดเจ็บของกระดูกอ่อน
จะเห็นว่าการตรวจด้วย MRI จะสามารถดูลักษณะเส้นเอ็นไขว้หน้าที่ฉีกขาด รวมถึงการบาดเจ็บของอวัยวะอื่นๆในหัวเข่าได้ละเอียดมากขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งในการวินิจฉัยและการวางแผนการรักษาต่อไป