ท่านั่งแบบไหน อันตรายต่อกระดูกสันหลัง??

นั่งท่าไหนอันตรายต่อกระดูกสันหลัง

การนั่งนานทำให้ร่างกายใช้กล้ามเนื้อ และแรงไปลงที่กระดูกสันหลังสูงกว่าท่ายืนปัจจุบันเราพบว่า ประชากรวัยหนุ่มสาวไปจนถึงวัยทำงาน มีแนวโน้มที่จะเผชิญกับปัญหาความผิดปกติ อันเกี่ยวเนื่องกับกระดูกเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ สาเหตุสำคัญมักเกิดจากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในชีวิตประจำวัน และนี่คือท่านั่งที่ควรหลีกเลี่ยง หากคุณไม่อยากเสี่ยงต่อสุขภาพกระดูกสันหลังที่จะตามมา- นั่งไขว่ห้าง จะทำให้เกิดการกดทับน้ำหนักตัวลงที่ก้นข้างใดข้างหนึ่ง เป็นผลให้กระดูกคดและโค้งงอ โดยเฉพาะกระดูกสันหลังและบริเวณอุ้งเชิงกราน ทำให้มีอาการปวดคอและหลังตามมา- นั่งกอดอก จะทำให้กระดูกหลังช่วงบนสะบักและหัวไหล่ถูกยืดออก ส่งผลให้หลังช่วงบนจะงองุ้ม และกระดูกช่วงคอยื่นไปข้างหน้า ซึ่งมีผลต่อการทำงานของเส้นประสาทที่ไปหล่อเลี้ยงบริเวณแขน เป็นเหตุให้กล้ามเนื้อมืออ่อนแรง และเกิดอาการชา หากกระดูกช่วงคอเกิดการผิดรูป ก็จะทำให้กล้ามเนื้อคอหดเกร็ง และส่งผลเสียต่อการทำงานของหลอดเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงสมอง นำไปสู่อาการปวดศีรษะเรื้อรังหรือไมเกรนได้

– นั่งหลังงอหรือหลังค่อม หากนั่งในท่าเดิมติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่นการทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ จะทำให้กล้ามเนื้อเกร็งค้าง ซึ่งจะก่อให้เกิดการคั่งของกรดแลคติก ส่งผลให้เกิดอาการปวดเมื่อยที่บริเวณหัวไหล่ และสะโพก และอาจทำให้กระดูกผิดรูปอีกด้วย

– นั่งบนเก้าอี้โดยไม่พิงพนักหรือนั่งไม่เต็มก้น การนั่งในลักษณะนี้ ทำให้ฐานในการรับน้ำหนักตัว น้อยกว่าที่ควรจะเป็น ส่งผลให้กล้ามเนื้อที่หลังทำงานหนักกว่าปกติ และเกิดเป็นผลเสียต่อกระดูกสันหลัง ควรนั่งให้เต็มก้น และเอนหลังพิงพนัก เพื่อให้ร่างกายถ่ายน้ำหนักบางส่วนไปที่เก้าอี้ แทนที่จะทรงตัวด้วยกระดูกสันหลังเท่านั้น

– นั่งพื้นแข็ง กระดูกก้นกบไม่สามารถเคลื่อนไหวได้อิสระเหมือนกระดูกสันหลัง เป็นลักษณะข้อกระดูกที่ยึดติดกันแน่น มีความมั่นคงแข็งแรงสูง แต่ถ้าปวดมักเกิดจากแรงที่มากระทำจากภายนอก หากเรานั่งบนพื้นที่แข็งเป็นประจำ จะทำให้กระดูกก้นกบเกิดแรงกดมากเกินไปจนเกิดอาการปวดได้

พฤติกรรมเหล่านี้อาจส่งผลให้เกิดอาการของโรคทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อตามมาได้ เช่น – กล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรัง (myofascial pain syndrome)
– เอ็นรัดข้อมืออักเสบกดทับเส้นประสาท (carpal tunnel syndrome)
– ความผิดปกติของความตึงตัวของเส้นประสาท (nerve tension)
– กล้ามเนื้อบริเวณแขนท่อนล่างด้านนอกอักเสบ (tennis elbow)
– นิ้วล็อก (trigger finger)
– เอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ (tendinitis)
– ปวดหลังจากท่าทางผิดปกติ (postural back pain)
– หลังยึดติดในท่าแอ่น (back dysfunction)

แนวทางตรวจวินิจฉัยโรค

ในปัจจุบันการตรวจด้วย MRI ถือว่าเป็นวิธีการตรวจที่เป็นมาตรฐาน สะดวกรวดเร็วและปลอดภัยในการวินิจฉัยโรคกระดูกสันหลังทุกชนิด ซึ่งมีความละเอียดชัดเจนสามารถตรวจพบความผิดปกติได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ก่อนที่จะมีอาการแสดงได้ ทำให้สามารถรักษาและป้องกันความเสียหายของกระดูกสันหลังได้ตั้งแต่เริ่มต้นก่อนที่จะลุกลามเสียหาย