ฝุ่นควันPM2.5 สาเหตุโรคปอด
มะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่น่ากลัว อดีตเรามักคิดว่ามะเร็งปอดสัมพันธ์กับบุหรี่แต่ปัจจุบันจะเห็นว่าทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย คนที่ไม่สูบบุหรี่ก็ป่วยด้วยโรคมะเร็งปอดด้วยเช่นกันและเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ จากหลายๆสาเหตุ เช่น เราไม่ได้สูบบุหรี่แต่อยู่ใกล้ชิดกับคนที่สูบบุหรี่ หรือผู้สัมผัสสารพิษในโรงงานแร่ใยหิน หรือมีกรรมพันธุ์ก็อาจจะเกิดเป็นมะเร็งปอดขึ้นมาได้ เป็นต้น
อาการของโรคมะเร็งปอด
มะเร็งปอดส่วนใหญ่มักจะไม่แสดงอาการในระยะเริ่มแรก แต่จะมีสัญญาณที่บ่งบอกถึงการเกิดโรคเมื่อมีการเจริญเติบโตของมะเร็งมากขึ้น และอาการจะแตกต่างกันไปแล้วแต่ตำแหน่งของก้อนที่เกิดขึ้น โดยอาการที่พบได้ ได้แก่- ไอเรื้อรัง 50-75%
– ไอมีเสมหะปนเลือด ไอมีเลือดสด 25-50%
– เหนื่อยง่าย หายใจลำบาก 25%
– เจ็บหน้าอก 20%
– เบื่ออาหาร น้ำหนักลดโดยหาสาเหตุไม่ได้
– หายใจมีเสียงดังผิดปกติ
– เสียงแหบ
นอกจาก PM2.5 ยังมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญอื่นที่ทำให้เกิด โรค มะเร็งปอด ได้แก่
– การสูบบุหรี่และได้รับควันบุหรี่ ซึ่งถือเป็นปัจจัยหลักในการเกิด โรคมะเร็งปอด รวมไปถึงมะเร็งชนิดอื่น ๆ ด้วย เช่น มะเร็งหู คอ จมูก, มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น
– การทำงานในอุตสาหกรรมที่มีสารก่อมะเร็ง เช่น โครเมียม แร่ใยหิน แร่เรดอน นิกเกิล เรดอน เป็นต้น
– ประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งปอด ถึงแม้ว่าโรคมะเร็งปอดจะไม่ได้ถ่ายทอดทางพันธุกรรมโดยตรงเหมือนมะเร็งบางชนิด แต่มีผลการศึกษาระบุว่าหากมีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งปอดตั้งแต่อายุน้อย ๆ สมาชิกในครอบครัวจะมีความเสี่ยงสูงเช่นกัน
– ประวัติโรคปอดเรื้อรังเดิม เช่น โรคถุงลมปอดโป่งพองเรื้อรังและภาวะพังผืดที่ปอด จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอดมากขึ้น
แนวทางการตรวจวินิจฉัย
คนที่มีความเสี่ยงควรตรวจคัดกรองเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะคนที่สูบบุหรี่ อายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป และผู้ที่ได้รับมลพิษทางอากาศอย่าง PM2.5 แนะนำตรวจคัดกรองมะเร็งปอด ด้วยการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบใช้ปริมาณรังสีต่ำ ( Low Dose CT Chest ) ซึ่งจะมีความละเอียดมากกว่าเอกซเรย์ธรรมดา อีกทั้งโรคมะเร็งปอดนั้นหากรู้เร็วมีโอกาสรักษาหายขาดได้