มะเร็งตับ อันตรายถึงชีวิต

“มะเร็งตับ” เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 1 ในเพศชาย และอันดับ 3 ในเพศหญิง และเนื่องจากมะเร็งตับมีการดำเนินโรคที่รวดเร็วมาก ผู้ป่วยที่เข้ามารับการตรวจมักจะเพราะมีอาการผิดปกติหรือโรคลุกลามไปมากแล้ว พอวินิจฉัยแล้วพบว่าเป็นมะเร็งตับจริง ก็มักเสียชีวิตภายใน 3-6 เดือน!

สาเหตุของการเกิดมะเร็งตับ

มะเร็งตับ แบ่งการเกิดได้เป็น 2 ทางใหญ่ๆ คือ “เกิดกับตับโดยตรง” และ “ลุกลามมาจากมะเร็งในอวัยวะอื่นมายังตับ” ซึ่งการเกิดที่ตับโดยตรง มักเกิดจากปัจจัยเสี่ยงสำคัญ เช่น ผู้ป่วยเคยเป็นโรคไวรัสตับอักเสบชนิดบี เป็นพยาธิใบไม้ในตับ หรือเคยได้รับสารเคมีต่างๆ เข้าสู่ร่างกาย อย่างยาฆ่าแมลง เกิดการสะสมสารเคมีจากยารักษาโรคบางชนิด หรือแม้กระทั้งการได้รับสารพิษที่เกิดจากเชื้อรา สารเคมีที่เกิดจากอาหารหมักดอง การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมไปถึงภาวะทุพโภชนาการ ภาวะภูมิต้านทานร่างกายต่ำ หรือสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากอย่างการมีพันธุกรรมเสี่ยง ซึ่งเมื่อรวมปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมา หากมีปัจจัยเสี่ยงมากก็มีโอกาสเกิดโรคมะเร็งตับได้มากเป็นเงาตามตัว

เนื่องจากมะเร็งตับ เป็นมะเร็งชนิดที่ลุกลามเร็ว ดังนั้นผู้ที่มีความเสี่ยงควรเข้ารับการตรวจเป็นประจำ โดยผู้ที่มีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป คือ- เพศชายที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
– ผู้ที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซีในร่างกาย
– ผู้ป่วยโรคเบาหวาน และโรคตับแข็ง
– ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ติดต่อกันเป็นประจำมายาวนาน
– ผู้ที่สูบบุหรี่จัด หรือได้รับควันบุหรี่มือสองเป็นประจำ
– ผู้ที่มีประวัติญาติสายตรงในครอบครัวเป็นมะเร็งตับ

พบอาการน่าสงสัย ควรรีบไปพบแพทย์

เพราะโรคมะเร็งตับในระยะแรกมักไม่แสดงอาการ การตรวจหาความเสี่ยงจึงเป็นเรื่องสำคัญ คนไข้ส่วนใหญ่มักจะไปพบแพทย์ก็ต่อเมื่อมีอาการลุกลามหลายๆ อย่างแล้ว ดังนี้- เบื่ออาหาร น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
– อ่อนเพลีย มีไข้ต่ำ
– คลื่นไส้ อาเจียน
– แน่นท้อง ท้องผูก ท้องโต
– ขาบวม
– ปวดหรือเสียดชายโครงด้านขวา ซึ่งมักคลำพบก้อนได้จากอาการตับโต
– คลำพบก้อนที่ชายโครงด้านซ้ายจากอาการม้ามโต
– ตัวเหลือง ตาเหลือง
– ตรวจหาความเสี่ยงเพื่อป้องกัน และรักษาทันทีหากพบ

การตรวจวินิจฉัยมะเร็งตับ

หากกังวลหรือสงสัย สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจ ดังนี้…

– ตรวจเลือดเพื่อหาระดับสารอัลฟ่าฟีโตโปรตีน (AFP) ซึ่งจะพบสูงขึ้นในผู้ป่วยมะเร็งตับ
– การตรวจทางรังสีวิทยา ได้แก่ การทำอัลตราซาวด์ (Ultrasound) การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ CT
– การตรวจเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือการตรวจโดยใช้การฉีดสารทึบแสงร่วมด้วยเพื่อเพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัยความผิดปกติของตับได้ดีขึ้น