หนึ่งในอาการบาดเจ็บที่นักกีฬาฟุตบอลเป็นกันมากรองจากข้อเท้าคือ เอ็นไขว้หน้าเข่าขาด ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทั่วไป หากออกกาลังหรือทำกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวแบบบิดหมุนตัวแล้วเกิดการเสียหลักล้ม อาทิ ฟุตบอล บาสเกตบอล แบตมินตัน สกี เป็นต้น ซึ่งการรักษาต้องใช้ระยะเวลานานหลายเดือน ดังนั้นหากเกิดความผิดปกติหรือสงสัยว่าเอ็นไขว้หน้าเข่าขาดควรรีบปรึกษาแพทย์และทำการรักษาโดยเร็วเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีดังเดิม
ความสำคัญของเอ็นไขว้หน้าเข่า
เอ็นไขว้หน้า (Anterior Cruciate Ligament – ACL) เป็นหนึ่งในเอ็นหลักของเข่า อยู่ลึกเข้าไปในบริเวณส่วนกลางของข้อเข่า ช่วยรักษาความมั่นคงของข้อเข่าในการเคลื่อนไหว มีหน้าที่ป้องกันการบิดหมุนของข้อเข่า เมื่อเอ็นไขว้หน้าขาดจะได้ยินเสียงลั่นในข้อ (Audible Pop) มีอาการเข่าบวมและเลือดออกในหัวเข่า ต้องรีบพบแพทย์ผู้ชำนาญการเพื่อทำการรักษาโดยเร็วที่สุด หากต้องรักษาด้วยการผ่าตัดจำเป็นจะต้องรักษาควบคู่การทำกายภาพบำบัดเป็นเวลาประมาณ 6 เดือน ซึ่งเอ็นไขว้หน้าเข่าขาดนั้น หากไม่รีบรักษาจะส่งผลให้เข่าเสื่อมก่อนวัย
สาเหตุเอ็นไขว้หน้าเข่าขาด
การบาดเจ็บที่เกิดจากการปะทะ เป็นสาเหตุส่วนใหญ่ที่พบในผู้ที่มีปัญหาเอ็นไขว้หน้าเข่าขาด ได้แก่
- การบิดของเข่าเมื่อเกิดการปะทะหรือเสียบ
- การกระโดดหรือรีบยกเท้า
การบาดเจ็บที่ไม่ได้เกิดจากการปะทะ
มักมีสาเหตุจากกล้ามเนื้อที่ตึง ไม่ยืดหยุ่น หรือไม่แข็งแรง ทำให้เข่าบาดเจ็บ แต่มักเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปหรือสะสมมากกว่าเป็นการกระแทกแล้วฉีกขาดในทันที
วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น
- นอนนิ่ง ๆ อย่าพยายามขยับ รอคนมาช่วย
- ประคบเย็นให้เร็วที่สุด
- ทิ้งเวลาสักพัก แล้วลองขยับเข่า งอเข่า เหยียดเข่า โดยค่อย ๆ ลงน้ำหนัก
- สังเกตว่าเจ็บบริเวณใด บวมทันทีหรือไม่ มีเสียงฉีกขาดของเอ็นดังป๊อปขณะเกิดอุบัติเหตุหรือไม่
- ถ้าปวดมากจนขยับไม่ได้ ต้องดามด้วยไม้หรืออุปกรณ์ที่มี แล้วพันผ้ายึดให้แข็งแรง
- หากข้อเข่าผิดรูป บิดเบี้ยว อย่ากด ดัน ดึง หรือปรับเข้าที่เอง ให้ดามจนกว่าจะถึงมือแพทย์
การรักษาที่ถูกต้อง
สำหรับการรักษาเอ็นไขว้หน้าเข่าขาด แพทย์จะเริ่มจากการตรวจร่างกาย ซักประวัติ เอกซเรย์ หรือทา MRI Scan โดยการรักษาจะขึ้นอยู่กับอาการบาดเจ็บของผู้ป่วยเป็นสำคัญ ในเบื้องต้นถ้าผู้ป่วยมีอาการเข่าบวมทันที บ่งบอกว่าอาจมีอะไรฉีกขาดในเข่าแล้วมีเลือดออก จากสถิติแล้วกว่า 80% มักเป็นเอ็นไขว้หน้าหรือ ACL (Anterior Cruciate Ligament) ฉีก และกว่า 60% ของเอ็นไขว้หน้าฉีกจะมีหมอนรองกระดูกเข่าฉีกร่วมด้วย ในกรณีนี้แพทย์มักทำการใส่เฝือกอ่อนและให้ยาลดการอักเสบประมาณ 1 สัปดาห์ จนเมื่ออาการบวมและการอักเสบเฉียบพลันลดลง แพทย์จะพิจารณาการผ่าตัดส่องกล้องเพื่อแก้ไขในลำดับต่อไป
หากสงสัยว่าเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมแพทย์ก็จะมีขั้นตอนการวินิจฉัยดังนี้
- ซักประวัติและตรวจร่างกายโดยเน้นทีการตรวจข้อเข่าซึ่งอาจจะพบลักษณะที่สำคัญคือ ข้อบวม หรือขนาดข้อใหญ่และมีการงอของข้อเข่า
- การถ่ายภาพรังสี ก็จะพบว่าช่องว่างระหว่างกระดูกเข่าแคบลงซึ่งหมายถึงกระดูกอ่อนมีการสึกหรอ
- การตรวจด้วย MRI สามารถดูการเสื่อมของข้อเข่า และอาการบาดเจ็บในข้อเข่าได้ละเอียดมากขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งในการวินิจฉัยและการวางแผนการรักษาต่อไป
- การเจาะเลือด การเจาะเลือดเพื่อวินิจฉัยแยกโรคที่อาจจะเป็นสาเหตุของโรคปวดเข่าเรื้อรังเช่น โรคเกาต์ หรือโรครูมาตอยด์
- การตรวจน้ำหล่อเลี้ยงเข่า ในกรณีที่เข่าบวมแพทย์จะเยาะเอาน้ำหล่อเลี้ยงเข่าออกมาตรวจด้วยกล้องจุลทัศน์
- การตรวจความหนาแน่นของกระดูก เป็นการตรวจหาโรคกระดูกพรุน