ดื่มไม่พัก…เสี่ยงตับพัง

โรคตับแข็ง เป็นภาวะของโรคตับเรื้อรังขั้นสุดท้าย ที่เกิดจากมีการอักเสบเรื้อรังของตับทำให้มีการสูญเสียเซลล์เนื้อตับรวมถึงมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของตับไปทำให้เกิดพังผืดในตับปริมาณมาก จนตับไม่สามารถทำงานได้ตามปกติและมีภาวะแทรกซ้อนตามมา

โรคตับแข็งสามารถเกิดจากหลายสาเหตุ ได้แก่

  • ไวรัสตับอักเสบเรื้อรัง เช่นไวรัสตับอักเสบบีและซี
  •  การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากและเป็นเวลานาน
  •  โรคทางพันธุกรรม เช่น Wilson disease (ความผิดปกติของตับที่ไม่สามารถขับทองแดงออกจากร่างกายได้ทำให้มีการสะสมทองแดงมากเกินไป), Hemochromatosis (ภาวะธาตุเหล็กในร่างกายเกินซึ่งอาจจะเป็นจากโรคทางพันธุกรรมทำให้ไม่สามารถขับธาตุเหล็กออกจากร่างกายได้หรือเป็นจากการได้รับธาตุเหล็กเกินโดยเฉพาะในคนไทยที่มีโรคเลือดจางธาลัสซีเมียรุนแรงจนต้องได้รับผลิตภัณฑ์เลือดอยู่บ่อย ๆ), cystic fibrosis, alpha one antitrypsin deficiency, glycogen storage disease
  •  ภาวะไขมันคั่งตับ มักพบในคนอ้วน หรือคนไข้เบาหวาน
  •  โรคแพ้ภูมิตนเองที่เกิดกับตับ เช่น autoimmune hepatitis, primary biliary cholangitis, primary sclerosing cholangitis
  •  โรคท่อทางเดินน้ำดีฝ่อตั้งแต่แรกเกิด (Biliary atresia)
  •  การได้รับยาบางชนิดหรือสมุนไพรบางอย่างที่มีผลต่อตับ
  •  การมีภาวะหัวใจด้านขวาล้มเหลวเรื้อรัง
  •  มีการอุดกั้นของหลอดเลือดดำทางออกของตับ

อาการของโรคตับแข็งเป็นอย่างไรบ้าง โดยส่วนมากในช่วงแรกของการเกิดโรคแทบไม่พบอาการหรือมีแสดงอาการน้อยมากโดยอาการแสดงก็ไม่จาเพาะเจาะจง เช่น อ่อนเพลีย เบื่ออาการ นอนไม่หลับ คันตามตัว ต่อเมื่อการทำงานของตับแย่ลงก็จะมาด้วยภาวะแทรกซ้อน เช่น ตัวตาเหลืองหรือดีซ่าน ท้องมาน เท้าหรือตัวบวม อาเจียนเป็นเลือด หรือน้ำหนักลดจาการมีมะเร็งตับพฤติกรรมแบบไหนที่สุ่มเสี่ยงหรือมีแนวโน้มเป็นโรคตับแข็งได้บ้าง ?

พฤติกรรมที่จะเสี่ยงต่อการเกิดตับแข็งก็ต้องดูตามสาเหตุ บางสาเหตุหลีกเลี่ยงหรือป้องกันได้ เช่น              
– กลุ่มไวรัสตับอักเสบบีและซี ก็ต้องระวังเรื่องการเปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ โดยไม่มีการป้องกันโรคที่เหมาะสม การใช้สารเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้นโดยใช้เข็มร่วมกัน การสักการเจาะโดยที่อุปกรณ์ไม่สะอาด หรือหากมีประวัติครอบครัวเป็นโรคตับแข็งจากไวรัสตับอักเสบบีก็ต้องไปตรวจเพราะสาเหตุหลักของไวรัสตับอักเสบบีคือการติดต่อจากแม่สู่ลูก
– การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
– ภาวะอ้วน น้ำหนักเกิน
– การใช้ยา อาหารเสริม หรือเสริมอาหาร หรือยาสมุนไพรที่ไม่ได้มาตรฐานโดยไม่มีข้อบ่งชี้

การตรวจวินิจฉัยโรค

– การประวัติอาการและการตรวจร่างกาย เป็นสิ่งชี้นำในการตรวจขั้นตอนต่อไป แต่ในรายที่เป็นมะเร็งตับระยะเริ่มแรก มักจะตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติ
– การตรวจหาสารบ่งชี้ เป็นการตรวจเลือด ปัสสาวะ หรือเนื้อเยื่อ
– การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT SCAN) เป็นการภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ที่จะแสดงให้เห็นตำแหน่งและขนาดของจุดเกิดโรค นอกจากนี้ยังช่วยวินิจฉัยได้ว่าโรคมีการลุกลามหรือไม่
– การตรวจเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เป็นการถ่ายภาพคอมพิวเตอร์อีกชนิดหนึ่งที่ไม่อาศัยรังสีเอกซ์ แต่อาศัยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยทำให้เห็นภาพของอวัยวะภายในและสามารถตรวจพบภาวะตับแข็ง และมะเร็งตับได้ ละเอียดแม่นยำใช้สำหรับการติดตามรักษาโรคได้เป็นอย่างดี