มะเร็งปอดเกิดจากการเจริญเติบโตของเซลล์ที่ผิดปกติอย่างรวดเร็วและไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้เกิดเป็นกลุ่มก้อนของเซลล์ที่ผิดปกติ ซึ่งจะตรวจพบได้เมื่อมีขนาดใหญ่มีจำนวนมากและแพร่ไปตามบริเวณต่างๆ ของร่างกาย มะเร็งปอดจะทำลายชีวิตของผู้ป่วยได้รวดเร็วแค่ไหนขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง
มะเร็งปอดแบ่งออกเป็น 2 ชนิดตามขนาดของเซลล์
- มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (small cell lung cancer) พบได้ประมาณ 10-15% เซลล์จะเจริญเติบโตและแพร่กระจายได้รวดเร็วกว่ามะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว การรักษาจะไม่ใช้วิธีการผ่าตัด ส่วนมากรักษาด้วยการใช้ยาหรือฉายรังสี
- มะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก (non-small cell lung cancer) พบได้บ่อยกว่ามะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (พบได้ประมาณ 85-90%) แต่แพร่กระจายได้ช้ากว่าและสามารถรักษาให้หายได้โดยการผ่าตัดหากพบตั้งแต่เนิ่นๆ
มีปัจจัยบางประการที่อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปอด เช่น
- บุหรี่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งปอดมากที่สุด ผู้ที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งปอดมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 10-30 เท่า เนื่องจากสารในบุหรี่สามารถทำลายเซลล์ปอด ทำให้เกิดความผิดปกติของเซลล์ โดยความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนมวนและจำนวนปีที่สูบบุหรี่
- การได้รับสารพิษและมลภาวะในสิ่งแวดล้อมเช่น ควันบุหรี่ แอสเบสตอส (asbestos) ก๊าซเรดอน (radon) สารหนู รังสี และสารเคมีอื่นๆ รวมถึงฝุ่นและไอระเหยจากนิกเกิล โครเมียม และโลหะอื่นๆ
- อายุความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นตามอายุ โดยทั่วไปความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นหลังอายุ 40 ปี แต่สามารถพบได้ในคนอายุน้อยกว่าได้
- มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งปอดผู้ที่มีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคมะเร็งปอดมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งปอดแม้ไม่ได้สูบบุหรี่
- ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดควรพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำในการลดปัจจัยเสี่ยงและวางแผนการตรวจสุขภาพ ส่วนผู้ที่เคยได้รับการรักษามะเร็งปอดมาแล้ว ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพหลังการรักษา เนื่องจากอาจมีโอกาสเป็นโรคมะเร็งปอดได้อีก
โดยทั่วไปแล้วมะเร็งปอดในระยะเริ่มต้นมักไม่แสดงอาการ แต่เมื่อโรคลุกลามแล้ว อาจพบอาการดังต่อไปนี้
- ไอเรื้อรัง ( ไอแห้ง, ไอมีเสมหะ, ไอมีเลือดปน )
- มีปัญหาการหายใจ เช่น หายใจสั้น หายใจมีเสียงหวีด
- เจ็บบริเวณหน้าอกตลอดเวลา
- เสียงแหบ
- ติดเชื้อในปอดบ่อยๆ เช่นปอดบวม
- เหนื่อยง่ายหรือรู้สึกเหนื่อยตลอดเวลา
- น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
แนวทางการวินิจฉัย
ปัจจุบันมีการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดในรายที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น ผู้ที่มีอายุ 55-75 ปี และสูบบุหรี่มากกว่า 30 มวน/ปี โดยการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ชนิดปริมาณรังสีน้อย (Low Dose CT Scan) นอกจากนี้ การตรวจสุขภาพประจำปีเป็นประจำ ยังสามารถตรวจพบความผิดปกติในเบื้องต้น ได้จากการเอกซเรย์ปอด เช่น สามารถตรวจพบจุด หรือ ก้อนในปอดได้
หากพบว่า เริ่มมีก้อนหรือจุดในปอด สามารถตรวจชิ้นเนื้อเพิ่มเติมได้ ซึ่งหากพบมะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มต้น และรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ สามารถหายขาดได้ แต่หากปล่อยให้ก้อนหรือจุดในปอดโตขึ้น มะเร็งจะลุกลาม ยากต่อการรักษาและเป็นอันตรายถึงชีวิต