เมื่อฤดูฝนผ่านไป ความชื้นในอากาศลดลง ทำให้ฝุ่นละอองที่เกิดจากปัจจัยต่าง ๆ ทั้งการเผาไหม้เชื้อเพลิง การเผาไหม้ทางการเกษตร กระบวนการอุตสาหกรรม ฯลฯ กลับมาเพิ่มปริมาณสูงขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะฝุ่นละอองอนุภาคขนาดเล็ก PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพค่อนข้างมาก
ผลกระทบต่อสุขภาพจาก PM 2.5
ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ผลกระทบระยะสั้นที่เกิดจากการได้รับฝุ่นละอองอนุภาคเล็ก PM 2.5 อาจทำให้ระคายเคืองต่อผิว ดวงตา คอ จมูก ทางเดินหายใจ รวมทั้งอาจทำให้ผู้มีอาการหอบหืดกำเริบได้ แต่ในระยะยาวนั้น ยังอาจเป็นปัจจัยในการเพิ่มอัตราความเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจ รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตด้วยมะเร็งปอด เป็นต้น
PM 2.5 กับมะเร็งปอด
ผลศึกษาจากวารสารการแพทย์ ซึ่งเผยแพร่ในหอสมุดแพทย์แห่งชาติสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ฝุ่นละอองอนุภาคเล็ก PM2.5 อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระดับยีน ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงโมเลกุลขนาดเล็กที่กำหนดการแสดงออกของยีนต่าง ๆ ในร่างกาย และมีผลต่อกระบวนการกลายพันธุ์หรือแบ่งตัวผิดปกติภายในเซลล์ รวมถึงอาจเอื้อให้เกิดสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเกิดมะเร็ง เปลี่ยนแปลงยีนที่ควบคุมการเจริญเติบโตแบบปกติของร่างกาย ให้กลายเป็นยีนก่อมะเร็งได้ ซึ่งมีส่วนต่อการเกิดมะเร็งปอดในท้ายที่สุด
ดูแลตนเองเมื่อต้องอยู่ร่วมกับ PM 2.5
ในช่วงที่ค่าฝุ่น PM 2.5 เพิ่มขึ้นสูง แนะนำให้ลดกิจกรรมนอกบ้าน งดออกกำลังกายกลางแจ้ง และสวมใส่หน้ากากป้องกันฝุ่น PM 2.5 ที่มีมาตรฐาน ก่อนออกภายนอก
โดยทั่วไปแล้วมะเร็งปอดในระยะเริ่มต้นมักไม่แสดงอาการ แต่เมื่อโรคลุกลามแล้ว อาจพบอาการดังต่อไปนี้
– ไอเรื้อรัง ( ไอแห้ง, ไอมีเสมหะ, ไอมีเลือดปน )
– มีปัญหาการหายใจ เช่น หายใจสั้น หายใจมีเสียงหวีด
– เจ็บบริเวณหน้าอกตลอดเวลา
– เสียงแหบ
– ติดเชื้อในปอดบ่อยๆ เช่นปอดบวม
– เหนื่อยง่ายหรือรู้สึกเหนื่อยตลอดเวลา
– น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
ตรวจคัดกรอง อีกหนึ่งวิธีดูแลตนเองตั้งแต่เนิ่น ๆ
นอกจากนี้ ผู้ที่มีอาการผิดปกติเช่น ไอเรื้อรัง แน่นหน้าอก หรือมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอด สามารถตรวจคัดกรองด้วยวิธี Low Dose CT ที่มีความแม่นยำมากขึ้น สามารถเห็นภาพสแกนแนวตัดขวาง แบบ 3มิติ ช่วยให้พบจุด หรือก้อนมะเร็งได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น หรือเห็นได้แม้ซ่อนอยู่หลังอวัยวะสำคัญ