ปวดท้องบ่อย ประจำเดือนมามาก เสี่ยงโรค “มะเร็งรังไข่”

เมื่อพูดถึงโรคมะเร็งในสตรี หลายคนคงนึกถึงมะเร็งปากมดลูก หรือมะเร็งเต้านม ที่พบได้บ่อยเป็นอันดับต้น ๆ แต่นอกจากนี้ ยังมีมะเร็งอีกชนิดหนึ่งที่ได้พบบ่อยเช่นกัน แต่อาจจะไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมากนัก ซึ่งก็คือ “มะเร็งรังไข่” เนื่องจากปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดมะเร็งรังไข่อย่างแน่ชัด แต่สันนิษฐานได้ว่าเกิดจากการผิดปกติที่ถ่ายทอดของพันธุกรรม โดยจะพบมากในกลุ่มครอบครัวที่มีประวัติเป็นมะเร็งรังไข่ รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงในกลุ่มสตรีที่ใช้ยากระตุ้นการตกไข่ ดังนั้นคุณสุภาพสตรีทั้งหลายจึงควรตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพื่อตรวจเช็คอาการผิดปกติต่าง ๆ ที่อาจเป็นอาการบ่งชี้ของมะเร็งรังไข่ ส่วนอาการบ่งชี้จะมีอะไรบ้าง ไปเช็คกันได้เลย

มะเร็งรังไข่ คืออะไร

มะเร็งรังไข่เป็นมะเร็งของอวัยวะสืบพันธุ์สตรีที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งปากมดลูก และเป็นอันดับ 6 ของมะเร็งทั้งหมดที่พบในสตรีไทย ในช่วงชีวิตของสตรีทั่วไปที่ไม่มีความเสี่ยงทางประวัติครอบครัวจะเป็นร้อยละ 1.4 หรือ หมายถึง ในสตรี 70 คนจะพบคนเป็นมะเร็งรังไข่ 1 คน หากมีความเสี่ยงเช่น มีกรรมพันธุ์ผิดปกติความเสี่ยงก็จะเพิ่มขึ้น

มะเร็งรังไข่เกิดจากสาเหตุใด

สาเหตุส่วนใหญ่ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีพันธุกรรม (gene) ที่พบว่ามีมีความเกี่ยวข้อง และเพิ่มความเสี่ยงชัดเจนคือ

กลุ่มยีน BRCA1/BRCA2 ทำให้เกิดกลุ่มโรคมะเร็งรังไข่ และหรือ มะเร็งเต้านม เช่น สตรีที่มียีน BRCA 1 ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 1.4 เป็นร้อยละ 40-60

อาการบ่งชี้ มะเร็งรังไข่

มะเร็งรังไข่แตกต่างจากมะเร็งอย่างอื่น เช่น มะเร็งปากมดลูก หรือมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ที่จะมีอาการแสดงนำมาก่อนเช่น เลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด ซึ่งจะนำคนไข้มาพบแพทย์ได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น แต่มะเร็งรังไข่ในระยะเริ่มต้นมักไม่มีอาการ หรือ อาการไม่ชัดเจน เช่น

  • เบื่ออาหาร
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • น้ำหนักขึ้นหรือลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ปัสสาวะบ่อย
  • อาหารไม่ย่อยท้องอืดท้องเฟ้อ
  • รู้สึกเหนื่อยโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ท้องเสียหรือท้องผูกเรื้อรัง
  • รู้สึกปวดท้องหรือปวดในอุ้งเชิงกราน
  • มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด
  • รู้สึกอึดอัดในช่องท้อง
  • รู้สึกอิ่มเร็วขึ้นหลังรับประทานอาหาร

การวินิจฉัยมะเร็งรังไข่

  • การซักประวัติและการตรวจร่างกาย
  • การตรวจภายในหรือทางทวารหนัก ตรวจหารอยโรคก่อนมะเร็งตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม
  • การตรวจอัลตราซาวด์มีประโยชน์ในการวินิจฉัยมะเร็งรังไข่ในระยะแรก และมีความไวในการตรวจพบก้อน
  • การตรวจเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็ง
  • ตรวจด้วยรังสีวินิจฉัย เช่น การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ช่วยในการวินิจฉัยและดูการแพร่กระจายของโรค เพื่อวางแผนการรักษา

การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) คือ เครื่องตรวจร่างกายโดยการสร้างภาพ เหมือนจริง ของส่วนต่างๆของร่างกาย โดยใช้สนามแม่เหล็กความเข้มสูง การตรวจด้วย MRI สามารถสร้างภาพภายในร่างกายได้โดยไม่ต้องสอดใส่อุปกรณ์ใดเข้าไปในอวัยวะเพศ สามารถบอกลักษณะของเนื้อเยื้อภายใน เช่น มดลูก รังไข่ ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย กระเพาะปัสสาวะได้อย่างชัดเจน และไม่มีอันตรายจากรังสีเอกซ์