“ไต” นักขจัดของเสียและรักษาสมดุลให้ร่างกาย

“ไต” นักขจัดของเสียและรักษาสมดุลให้ร่างกาย

ไต (Kidney) คือ อวัยวะที่มีรูปร่างคล้ายเมล็ดถั่ววางอยู่ทางด้านหลังของช่องท้องขนาบกับกระดูกสันหลังบริเวณบั้นเอวทั้ง 2 ข้าง ข้างละ 1 อัน มีหน้าที่ในการรักษาสมดุลของน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย
และขับของเสียออกมาในรูปแบบปัสสาวะ ในปัจจุบันคนไทยมีแนวโน้มพบผู้ป่วยโรคไตมากขึ้น โดยเฉพาะโรคไตเรื้อรัง ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มักมาจากโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ดังนั้นการดูแลสุขภาพไตให้ดี ห่างไกลจากความเสี่ยงเกิดโรคไตจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรละเลย

หน้าที่ของไต

  1. กำจัดของเสีย
  2. ดูดซึมและเก็บสารเคมี เกลือแร่ และแร่ธาตุต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย
  3. รักษาสมดุลของเกลือแร่ กรด-ด่าง ของร่างกาย
  4. รักษาสมดุลน้ำของร่างกาย ขับน้ำส่วนเกินออกจากร่างกาย และดูดซึมกลับในภาวะขาดน้ำ
  5. ควบคุมความดันโลหิต
  6. ผลิตและควบคุมการทำงานของฮอร์โมน ได้แก่ ฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการสร้างเม็ดเลือดแดง (Erythropoietin) ฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการควบคุมความดันโลหิต (Renin-Angiotensin-Aldosterone System) ฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการรักษาสมดุลแคลเซียม (Vitamin D และ Parathyroid Hormone)

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคไต

  1. โรคเบาหวาน โดย 1 ใน 3 ของผู้ป่วยโรคเบาหวานนั้นมักจะพบอาการของโรคไตร่วมด้วย ซึ่งอาจพบโปรตีนในปัสสาวะเนื่องจากค่าการทำงานของไตลดลง
  2. ความดันโลหิตสูง ผู้ที่ป่วยส่วนใหญ่มักไม่รู้ตัว ซึ่งไตมีเส้นเลือดแดง (Renal artery) ส่วนประกอบหลักของอวัยวะ โดยทำหน้าที่ลำเลียงเลือดเข้าสู่ไตทั้งสองข้าง หากเป็นความดันโลหิตสูงย่อมส่งผลกระทบต่อการทำงานของไตด้วย
  3. ผู้ป่วยโรคอ้วน หรือมีภาวะน้ำหนักเกินกว่ากำหนด
  4. ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดต่างๆ เช่น หัวใจ สมอง เป็นต้น
  5. ผู้สูงอายุที่มีอัตราการทำงานของไตลดลง
  6. ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคไตและสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรม เช่น ถุงน้ำในไต เป็นต้น
  7. ผู้ป่วยโรคอื่นๆ ที่มักมีโรคไตร่วมด้วย เช่น โรค SLE โรคหลอดเลือกอักเสบ หรือเนื้อเยื่อเกี่ยวพันต่างๆ
  8. ผู้ป่วยที่มีประวัติการใช้ยาหรือสารพิษที่เป็นอันตรายต่อไต

ประเภทของโรคไต แบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่

  1. โรคไตวายเฉียบพลัน คือ ไตสูญเสียการทำงานอย่างรวดเร็ว ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง หรือไม่กี่วัน ซึ่งเกิดจากสาเหตุต่างๆ เช่น ภาวะช็อกจากการเสียน้ำหรือเลือดเป็นจำนวนมาก การติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างรุนแรง หรือได้รับสารพิษหรือผลข้างเคียงจากยา ผู้ป่วยจะมีอาการแสดงตั้งแต่เริ่มแรกทั้งๆ ที่ไตยังไม่เสื่อม เช่น ผู้ป่วยจะมีอาการบวม ปัสสาวะสีน้ำล้างเนื้อ มีเลือดปนออกมากับปัสสาวะ และโปรตีนไข่ขาวปนออกมาในปัสสาวะด้วย หากตรวจวัดความดันโลหิตจะพบว่ามีความดันโลหิตสูงผิดปกติ อาการผิดปกติเหล่านี้จะแสดงออกมาให้เห็นในระยะแรกๆ ตั้งแต่เริ่มเป็น ภาวะไตวายเฉียบพลันมีอันตรายถึงชีวิตได้ แต่หากมาพบแพทย์และรักษาอย่างทันท่วงที เนื้อไตและการทำงานของไตก็อาจสามารถกลับฟื้นคืนเป็นปกติได้เช่นกัน
  2. โรคไตวายเรื้อรัง คือ เนื้อไตจะถูกทำลายไปทีละน้อยอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน เกิดจากภาวะแทรกซ้อนของโรคอื่นๆ เช่น โรคไตที่เกิดจากเบาหวาน โรคไตที่เกิดจากความดันโลหิตสูง โรคไตที่เกิดจากเกาท์ ฯลฯ ในระยะแรกผู้ป่วยจะไม่แสดงอาการผิดปกติออกมาให้เห็นเลยโดยผู้ป่วยจะมีความเป็นอยู่ ดำเนินชีวิตเหมือนคนปกติทุกอย่างเป็นเวลาหลายๆ ปี ระหว่างนี้ถ้าผู้ป่วยมาตรวจร่างกาย แพทย์ก็อาจจะไม่พบความผิดปกติใดๆ ทั้งสิ้น ยกเว้นถ้าตรวจปัสสาวะจะพบเม็ดเลือดแดงและโปรตีนไข่ขาวปนออกมาในปัสสาวะด้วย จนในที่สุดการทำงานของไตเหลือเพียงร้อยละ 25 หรือหนึ่งในสี่ของปกติ จะเริ่มมีอาการโรคไตแสดงออกมาให้เห็นบ้าง และถ้าการทำงานของไตเสื่อมลงเหลือต่ำกว่าร้อยละ 10 ของปกติ ผู้ป่วยจะมีอาการแสดงออกมาชัดเจนทุกราย

อาการของโรคไต

  1. ปัสสาวะมีลักษณะผิดปกติ เช่น สีผิดปกติ มีเลือดปน หรือเป็นฟองจากการมีโปรตีนรั่ว หรือมีนิ่วปนออกมา
  2. ปัสสาวะน้อยหรือบ่อยผิดปกติ เกิดจากความสามารถในการขับน้ำผิดปกติ
  3. มีอาการตัวบวม ขาบวม หน้าบวม
  4. อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ผิวหนังซีด คัน มีจ้ำเลือดขึ้นง่าย
  5. เบื่ออาหาร คลื่นไส้
  6. รู้สึกมีรสขมในปากแม้ไม่ได้ทานอาหารรสขม ไม่สามารถรับรสอาหารได้ตามปกติ
  7. ผู้ป่วยบางรายน้ำหนักลด แต่บางรายอาจจะตัวบวมและน้ำหนักขึ้นได้
  8. ความดันโลหิตสูง
  9. คลำพบก้อนเนื้อบริเวณไต

การตรวจคัดกรองโรคไต โดยการตรวจหาสาเหตุเพื่อประเมินความรุนแรงสามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้

  1. ตรวจเลือด เพื่อตรวจระดับของเสียในเลือด ตรวจสมดุลเลือด กรด ด่าง อัตราการกรองของไต ฯลฯ
  2. ตรวจปัสสาวะ เพื่อตรวจวิเคราะห์ปัสสาวะ วัดปริมาณโปรตีนในปัสสาวะ
  3. ตรวจจากภาพถ่าย ได้แก่ เอกซเรย์, อัลตราซาวนด์ (Ultrasound), CT Scan, MRI Scan
  4. ตรวจชิ้นเนื้อ (Kidney Biopsy)
  5. การตรวจพิเศษต่าง ๆ จำเพาะโรค (Special Tests)

การป้องกันโรคไต

  1. เลือกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในสัดส่วนที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงอาหารที่มีส่วนผสมของเกลือ ในผู้ป่วยไตเรื้อรังควรปรับสัดส่วนโปรตีนให้เหมาะสมกับระยะของโรค
  2. หลักเลี่ยงอาหารที่ผ่านกระบวนการถนอมอาหารหรือแปรรูป ที่มีส่วนผสมเกลือเป็นหลัก เช่น ผักดองเค็ม ไส้กรอก เบคอน แฮม รวมถึงอาหารกึ่งสำเร็จรูปที่มีผงปรุงรสเป็นส่วนประกอบ
  3. รับประทานอาหารที่มีไขมันชนิดไม่อิ่มตัว หลีกเลี่ยงไขมันจากสัตว์ ไข่แดง กะทิ และน้ำมันพืชที่มีกรดไขมันอิ่มตัวสูง
  4. ดื่มน้ำอย่างน้อย 2 ลิตรต่อวัน
  5. ควบคุมน้ำหนักให้ได้มาตรฐาน เพื่อไม่ให้เกิดภาวะโรคอ้วน
  6. ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์
  7. งดสูบบุหรี่ และเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  8. ตรวจวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ