โรคกระดูกสันหลังคด

กระดูกสันหลังเป็นส่วนที่ประกอบไปด้วยกระดูกและกล้ามเนื้อ ทำหน้าที่ในการรับน้ำหนักและเชื่อมโยงเส้นประสาทจากสมองไปถึงเชิงกราน เมื่อมองจากด้านหน้ากระดูกสันหลังจะเรียงเป็นแนวเส้นตรง หากมองจากด้านข้าง กระดูกสันหลังจะมีความโค้ง ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ

โรคกระดูกสันหลังคด (Scoliosis) คืออาการที่แนวกระดูกสันหลังมีภาวะผิดรูป คดโค้งออกไปด้านข้าง โดยทั่วไปประมาณร้อยละ 80 ของผู้ป่วยโรคดังกล่าวจะเป็นชนิดกระดูกหลังคดชนิดที่ไม่พบสาเหตุ (Idiopathic Scoliosis) มักจะพบในช่วงอายุระหว่าง 10 – 15 ปี ทั้งนี้ยังมีสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เกิดโรคกระดูกสันหลังคด ได้แก่ การสร้างและการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของกระดูกสันหลังตั้งแต่กำเนิด กล้ามเนื้อหรือระบบประสาทผิดปกติ หรือเกิดร่วมกับโรคทางพันธุกรรมอื่นๆ เป็นต้น

สาเหตุของโรคกระดูกสันหลังคด แบ่งได้ 2 ประเภท ดังนี้

  1. โรคกระดูกสันหลังคดแบบไม่ทราบสาเหตุ (Idiopathic Scoliosis) โดยจะแบ่งตามช่วงอายุของผู้ป่วยที่พบอาการดังกล่าว ดังนี้

– โรคกระดูกสันหลักคดก่อนอายุ 3 ปี (Infantile Idiopathic Scoliosis)

– โรคกระดูกสันหลังคดระหว่างอายุ 4 – 10 ปี (Juvenile Idiopathic Scoliosis)

– โรคกระดูกสันหลังคดระหว่างอายุ 10 – 18 ปี (Adolescent Idiopathic Scoliosis) โดยพบในเด็กที่มีการเจริญเติบโตเร็ว เข้าสู่วัยรุ่นหรือมีอายุระหว่าง 10 – 18 ปี ซึ่งเป็นช่วงอายุที่พบโรคกระดูกสันหลังคดได้มากที่สุด

  1. โรคกระดูกสันหลังคดแบบทราบสาเหตุ โดยในกลุ่มนี้จะมีโรคกระดูก กล้ามเนื้อ และระบบประสาท เป็นองค์ประกอบที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของกระดูกสันหลัง รวมถึงโรคทางพันธุกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงร่างกายหลายระบบเข้ามาเกี่ยวข้อง

– โรคกระดูกสันหลังคดแต่กำเนิด (Congenital Scoliosis) โดยเกิดได้จากความบกพร่องในการสร้างกระดูกสันหลัง ทำให้กระดูกสันหลังผิดรูป

– โรคกระดูกสันหลังคดจากท่าทางที่ผิด (Functional Scoliosis) เกิดจากความผิดปกติตรงส่วนอื่นของร่างกาย เช่น การบาดเจ็บ กล้ามเนื้อหดเกร็ง การทำกิจกรรมที่ทำให้ร่างกายเกิดความไม่สมดุลซ้ำๆ ติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี

– โรคกระดูกสันหลังคดจากโรคประสาทกล้ามเนื้อ (Neuromuscular Scoliosis) พบในเด็กที่มีความผิดปกติของไขสันหลัง สมองและระบบกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อและเส้นประสาทไม่สามารถรักษาสมดุลของลำตัวและกระดูกสันหลังได้ โรคกระดูกสันหลังคดชนิดนี้มักรุนแรงมากขึ้นเมื่อเด็กโตเป็นผู้ใหญ่

– โรคกระดูกสันหลังเสื่อม (Degenerative Lumbar Scoliosis) เกิดขึ้นในผู้สูงอายุ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของกระดูกสันหลังจากการใช้งานหนักติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน

อาการของโรคกระดูกสันหลังคด

โดยปกติโรคกระดูกสันหลังคดมักไม่ค่อยแสดงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับร่างกายและกระดูกสันหลังอย่างชัดเจน แต่จะสังเกตถึงความผิดปกติได้เมื่อเวลาก้มตัวหยิบของ เนื่องจากกระดูกสันหลังคดจะเห็นได้ชัดเจนเวลาก้มตัว โดยมีลักษณะที่สังเกตได้ดังนี้

  1. ระดับหัวไหล่ไม่เท่ากัน
  2. กระดูกสะบักนูนไม่เท่ากัน
  3. เอวไม่เสมอกัน
  4. สะโพกสองข้างสูงต่ำไม่เท่ากัน
  5. ขายาวไม่เท่ากัน

หากมีอาการรุนแรงมากขึ้น กระดูกสันหลังนากจากจะโค้งไปทางด้านใดด้านหนึ่งแล้วยังอาจหมุนหรือบิดตัว ทำให้ซี่โครงการด้านหนึ่งยื่นออกมามากกว่าปกติ เห็นเป็นก้อนนูนทางด้านหลังได้ชัดเจน

แนวทางการวินิจฉัยโรคกระดูกสันหลังคด

  1. ซักประวัติ อาการ ความเจ็บปวด
  2. ตรวจกระดูกสันหลังจากด้านข้าง ด้านหน้า และด้านหลัง โดยแพทย์อาจให้ผู้ป่วยก้มตัวแตะนิ้วเท้า เพื่อตรวจเช็คแนวกระดูกสันหลัง ความนูน ความคดงอ และสมมาตรของร่างกาย
  3. ตรวจดูระดับสะโพกและหัวไหล่ ความเอียงของร่างกาย ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
  4. ตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์แม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อหารอยโรคของไขสันหลัง และเส้นประสาท ร่วมกับการตรวจด้วยเครื่องสแกนคอมพิวเตอร์ (CT Scan) เพื่อตรวจสอบขนาดของกระดูกสำหรับวางแผนการรักษาต่อไป